วิกฤตกล้วยหอม ภัยแล้งเป็นเหตุทำกล้วยแพง-ผลลีบเล็ก

ภัยพิบัติ
5 ก.ย. 59
12:07
1,330
Logo Thai PBS
วิกฤตกล้วยหอม ภัยแล้งเป็นเหตุทำกล้วยแพง-ผลลีบเล็ก
"กล้วย" เป็นผลไม้สามัญประจำบ้านของใครหลายๆ คน แต่วิกฤตภัยแล้งที่ลากยาวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วส่งผลให้กล้วย ไม่ว่าจะเป็นกล้วยหอมหรือกล้วยน้ำว้า กลายเป็นผลไม้ราคาแพง แถมยังมีผลผลิตน้อยกว่าปีก่อน สร้างความเดือดร้อนให้ทั้งคนปลูกและคนกินกล้วย

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่สวนกล้วยหอมของนายอรรถพล พลชัย เกษตรกร ต.บางเตย อ.สามพราน จ.นครปฐม ช่วงต้นเดือนกันยายน 2559 พบว่าสวนกล้วยหอมของอรรถพลประสบปัญหากล้วยหอมมีผลลีบ ผลผลิตออกน้อย ซึ่งเขาบอกว่าเป็นเพราะสวนขาดแคลนน้ำอันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้ง

"กล้วยหอมจะเติบโตได้ดีในอุณหภูมิที่ 25-35 องศาเซลเซียส ถ้าร้อนมากกว่านี้จะเกิดอาการคายน้ำ ทำให้การเจริญเติบโตไม่ดี การแทงปลีออกเครือจะช้า ผลของกล้วยมีลักษณะลีบเล็ก และบางทีไม่ออกผลผลิต" นายอรรถพลกล่าว

 

 

นายอรรถพลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีนี้สวนกล้วยหอมของเขาออกผลผลิตเพียงร้อยละ 50 ซึ่งลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว กล้วยหอมเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ต้องรดน้ำวันเว้นวัน เพื่อให้ลำต้นดูดซับน้ำไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ถ้ามีน้ำเพียงพอ ผลผลิตจะอวบอิ่มและออกผลดี

นอกจากปัญหาภัยแล้ง ช่วงต้นฤดูฝน สวนกล้วยหอมของเขายังประสบปัญหาต้นล้มจากลมแรงอีกด้วย

แม้ราคากล้วยหอมที่ขายในท้องตลาดจะมีราคาแพง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น

"ตอนนี้กล้วยหอมขายในราคาสูง ก็ไม่ได้กำไรคืนมา เพราะว่าผลผลิตเจอปัญหาสภาพอากาศแล้งเหมือนกันทั้งประเทศ เมื่อผลผลิตไม่มี ก็ไม่มีทั้งประเทศ แม้จะขายได้ในราคาแพง แต่ถ้าเอามาเฉลี่ยกันแล้ว กำไรที่ได้ก็ไม่ดีเท่ากับช่วงสภาพอากาศปกติ" นายอรรถพลกล่าว

 

น.ส.อมราภรณ์ ไทยทวี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ต.บางเตย อ.สามพราน จ.นครปฐม ให้ข้อมูลว่า อ.สามพรานมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมประมาณ 1,400 ไร่  ปีนี้ประสบปัญหาเดียวกันคือผลผลิตออกน้อย แต่ระหว่างที่กล้วยเก็บผลผลิตไม่ได้ เกษตรกร ต.บางเตย ก็ยังมีรายได้จากพืชชนิดอื่นๆ ที่ปลูกแซมไว้ เช่น มะนาวและมะละกอ

"เกษตรกรบางส่วนเห็นว่าปีนี้กล้วยมีราคาแพง ก็เลยปลูกกล้วยเยอะขึ้น เพราะคาดว่าปีหน้ากล้วยอาจจะยังมีราคาสูง ส่วนตัวคิดว่ากล้วยคงเหมือนกับพืชอื่นๆ ที่จะมีราคาสูงอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วจะกลับไปสู่สภาพเดิม ในราคาที่คนส่วนใหญ่ซื้อไปบริโภคได้ อยากแนะนำว่าถ้าปลูกอะไรอยู่ เราควรดูแลพืชนั้นให้ได้ผลผลิตดี เต็มความสามารถของเรา มันก็จะไปตามกลไกของตลาดเอง"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง