“ประจิน” แย้มใช้ ม.44 เร่งจัดการปัญหาไทยขาดแคลนนักบิน-ดันนักบินอายุเกิน 60 เป็นครูฝึก

เศรษฐกิจ
5 ก.ย. 59
16:38
781
Logo Thai PBS
“ประจิน” แย้มใช้ ม.44 เร่งจัดการปัญหาไทยขาดแคลนนักบิน-ดันนักบินอายุเกิน 60 เป็นครูฝึก
“ประจิน” อาจใช้ ม.44 เร่งแก้ปัญหานักบินไทยขาดแคลน เตรียมผลักดันนักบินอายุเกิน 60 ปี กลับมาทำงานเป็นครูฝึกบิน ด้าน ผอ.กพท.ชี้ ต้องปรับปรุงคุณภาพตั้งแต่ต้นทางที่โรงเรียนฝึกบิน

วันนี้ (5 ก.ย. 2559) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังงานสัมมนาการผลิตบุคลากรด้าการบินของประเทศไทย ว่า จำนวนนักบินของสายการบินพาณิชย์ทั้ง 51 แห่ง ในปัจจุบัน ที่มีอยู่ 5,200 คน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นต้องเร่งเพิ่มบุคลากรการบินอีกร้อยละ 50 เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่ออีกว่า เบื้องต้นเสนอให้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จัดหาแนวทางการนำนักบินที่มีอายุเกิน 60 ปี ให้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งในฐานะครูฝึกบิน แต่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายในส่วนการทำงานในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ
“หากกระบวนการในการแก้ไขกฎหมายในการนำนักบินที่มีอายุเกิน 60 ปี กลับเข้ามาทำงานในระบบราชการล่าช้า อาจอาศัยอำนาจของมาตรา 44 เข้ามาแก้ไขปัญหา เพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ รวดเร็วขึ้น” รองนายกรัฐมนตรี ระบุ

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ปัจจุบันนักบินที่อายุเกิน 60 ปี และมีศักยภาพพร้อมจะเป็นครูฝึกบินมีจำนวนหลายร้อยคน โดยนักบินผู้สูงอายุที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อให้มีความพร้อมก่อนออกบินซึ่งต้องมากกว่านักบินทั่วไป ทั้งนี้ ครูฝึกบิน 1 คน สามารถผลิตนักบินได้เฉลี่ยปีละ 5 คน หากเร่งกระบวนการจัดหาครูฝึกบิน จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนนักบินของไทย

ด้าน นายจุฬา สุขมานพ ผอ.กพท. กล่าวว่า การให้นักบินที่อายุเกิน 60 ปี เข้ามาเป็นครูฝึกบินนั้น ในเงื่อนไขของรัฐวิสาหกิจพนักงานจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี แต่สายการบินไทยสไมล์ได้ขออนุญาติเพิ่มอายุงานนักบินอีก 3 ปี เป็น 63 ปี เนื่องจากขาดแคลนนักบิน ซึ่งโดยพื้นฐานนักบินสามารถทำการบินได้จนถึงอายุ 65 ปี ส่วนครูฝึกบินยังไม่ได้หารือว่าจะนำนักบินที่อายุเกิน 65 ปี เข้ามาบรรจุในตำแหน่งนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ได้เสนอให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ และอาจต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาเป็นตัวช่วย

“ปัจจุบันจนถึงปี 2035 ทั่วโลกมีความต้องการบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบินจำนวนมาก โดยเฉพาะในเอเชียแปซิกที่ขาดแคลน ส่วนประเทศไทยอุตสาหกรรมที่เติบโตมากขึ้น ทำให้การขนส่งด้วยเครื่องบินมีมากขึ้นตามไปด้วย แต่เรายังขาดบุคลากรที่เกี่ยวข้องเกือบทุกด้าน” ผอ.กพท. ระบุ

นายจุฬา กล่าวต่ออีกว่า คาดว่าในอนาคตจะเกิดการปรับปรุงคุณภาพตั้งแต่ต้นทางคือโรงเรียนฝึกบิน ผ่านการส่งเสริมให้มีสถานบันฝึกอบรมมากขึ้น และสนับสนุนด้านการเงินเพื่อให้องค์กรอยู่ได้ โดยมาตรฐานต้องเป็นไปตามที่ไอเคโอกำหนด ในส่วน กพท.ต้องมีบุคลากรที่เพียงพอเพื่อรองรับการทำหน้าที่ตรวจสอบ พร้อมขับเคลื่อนได้ทั้งอุตสาหกรรมการบิน

“กรณีภาคเอกชนที่เสนอให้ภาครัฐมีการวางแผนรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน ที่ผ่านมายอมรับว่าไม่ครอบคลุมเพียงพอและขาดความชัดเจน ซึ่งหน่วยงานกรมการบินพลเรือนเดิมไม่มีหน่วยงานในลักษณะนี้มาดูแล แตกต่างจาก กพท.ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ ที่มีหน่วยดูแลและวางแผนการเติบโตอุตสาหกรรมอยู่ในโครงสร้าง และมีการวางแผนระยะยาว ทำให้สามารถวางแผนการวางจำนวนบุคลากรที่เหมาะสมได้” ผอ.กพท.กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง