แกะรอยที่มาจดสิทธิบัตร "กระท่อม" ของญี่ปุ่น

สังคม
8 ก.ย. 59
10:50
802
Logo Thai PBS
แกะรอยที่มาจดสิทธิบัตร "กระท่อม" ของญี่ปุ่น
มูลนิธิชีววิถีอ้างว่าขณะนี้การขอสิทธิบัตรอนุพันธ์จากใบกระท่อมของญี่ปุ่นอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งไทยควรจะคัดค้านได้ โดยเฉพาะการทำวิจัยใบกระท่อมที่ผิดขั้นตอน แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันว่าเรื่องนี้สิ้นสุดไปแล้วและไทยไม่ได้รับคำร้องให้พิจารณาใดๆ

บทความทางวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ เมื่อปี 2004 โดยนายฮิโรมิซุ ทากายามา นักวิจัยและนักประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นกระบวนการเริ่มต้นศึกษาวิจัยสารสกัดจากใบกระท่อม ซึ่งใช้ตัวอย่างใบกระท่อมทั้งในไทยและมาเลเซีย

บทความยังอ้างถึงการศึกษาวิจัยครั้งนั้นนำตัวอย่างใบกระท่อมที่ปลูกในคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบางส่วนศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย เช่นเดียวกับบทความอีกชิ้นที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2009 อ้างแหล่งที่มาของใบกระท่อมจากการสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งหมด 13 ตัวอย่าง โดยมีนายสัมพันธ์ วงศ์เสรีพิพัฒนา จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทีมนักวิจัยเพื่อจำแนกสายพันธุ์ของกระท่อม

ซึ่งเป็นหลักฐานบางส่วนที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีใช้ยืนยันว่า ใบกระท่อมที่วิจัยขณะนั้นมีแหล่งที่มาจากในไทย ก่อนจะต่อยอดงานวิจัยนำไปสู่ความพยายามยื่นขอสิทธิบัตรอนุพันธุ์จากใบกระท่อม 2 ชนิดที่มีสารระงับอาการปวดของนักประดิษฐ์จากญี่ปุ่นที่ร่วมมือกับนักวิจัยไทย ซึ่งเท่ากับว่าการวิจัยดังกล่าวขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD )รวมถึงกฎหมายไทยที่นำพืชประจำถิ่นของไทยไปทำการศึกษาวิจัย

การนำกระท่อมพืชพื้นเมืองของไทยตามกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 ไปวิจัยและยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่าทีมนักวิจัยได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่นั้น มูลนิธิชีววิถีจึงเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ระบุว่าต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริง

ขณะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า กระบวนการนี้สิ้นสุดไปแล้ว โดยไทยไม่ได้รับคำร้องขอจดสิทธิบัตรใดๆจากญี่ปุ่นและสิ้นสุดระยะเวลา 30 เดือนตามกระบวนการของพีซีที ส่วนคำขอนี้จะมีผลกับประเทศอื่นหรือไม่นั้นต้องรอผลจากองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือไวโป้

แม้ทางมูลนิธิชีววิถีจะอ้างว่าเป็นบทบาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องแสดงท่าทีคัดค้านการขอจดสิทธิบัตรไปยังประเทศต่างๆ ไม่ให้รับรองสิทธิบัตรตามที่ญี่ปุ่นยื่นขอ โดยอ้างว่าการวิจัยดังกล่าวไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ แต่กรมทรัพย์ทางปัญญายืนยันว่าการคัดค้านต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อเท่านั้นคือ สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ใหม่, ไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และกรณีการลอกเลียนแบบผลงาน

แม้จะไม่ชัดเจนว่าคำร้องขอของญี่ปุ่นในประเทศสมาชิกมีผลหรือไม่ แต่ขณะนี้สิทธิของนักวิจัยญี่ปุ่นที่มีต่อใบกระท่อม ทั้งโครงสร้างทางเคมี, สูตรยาที่มีองค์ประกอบของสาร, การนำไปแปรรูป, ยาที่มีสาร 0.1 - 100% รวมถึงการรักษาคนและสัตว์มีผลแล้วในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง