"ความรัก-ซึมเศร้า" ทำคนไทยฆ่าตัวเพิ่ม ทุก 2 ชั่วโมง สำเร็จ 1 คน

สังคม
9 ก.ย. 59
12:50
1,466
Logo Thai PBS
"ความรัก-ซึมเศร้า" ทำคนไทยฆ่าตัวเพิ่ม ทุก 2 ชั่วโมง สำเร็จ 1 คน
กรมสุขภาพจิตเผยคนไทยฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ทุก 2 ชม. ทำสำเร็จ 1 คน ในปี 2558 มีคนฆ่าตัวตายทั้งสิ้น 4,205 คน เป็นชายมากกว่าหญิง 4 เท่า และกระจุกตัวในภาคเหนือ การคิดฆ่าตัวตายครั้งที่ 5 ขึ้นไปมักสำเร็จสูง แนะสังคม-สื่อตระหนัก อย่าเพิกเฉยสัญญาณเตือนจากกลุ่มเสี่ยง

วันนี้ (9 ก.ย.2559) นพ.เจษฎา โชคดำรุงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2559 (World Suicide Prevention Day 2016) ว่า สถิติอัตราฆ่าตัวตายของคนไทยว่า ตามสถิติในปี 2558 มีคนไทยฆ่าตัวตายทั้งสิ้น 4,205 คน เฉลี่ยเดือนละ 350 คน หรือทุก 2 ชั่วโมง มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน คิดเป็นร้อยละ 6.47 ต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 0.39 ต่อประชากร 100,000 คน แต่ยังอยู่ในอัตราปกติตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ไม่ควรเกินร้อยละ 7 ต่อประชากร 100,000 คน

ทั้งนี้พบว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายมีอายุตั้งแต่ 10-97 ปี อัตราส่วนเพศ ที่ฆ่าตัวตายเป็นชายมากกว่าหญิงถึง 4 เท่า โดยหากเป็นเพศชายจะอยู่ในช่วงอายุ 35-39 ปี ส่วนเพศหญิง อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 45-49 ปี ในกลุ่มผู้สูงอายุอยู่ระหว่าง 70-74 ปี ส่วนอาชีพที่ฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นกลุ่มวัยแรงงานอายุ 30 ขึ้นไป รองลงมาคือเกษตรกร และข้าราชการ

ยังพบด้วยว่า อัตราการฆ่าตัวตายของประชาชนในภาคเหนือยังสูงกว่าภาคอื่น ขณะที่มีเพียงภาคใต้ที่อัตราการฆ่าตัวตายลดลง ส่วนภาคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“ขอย้ำว่าปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่สามารถป้องกันได้โดยเริ่มต้นที่ครอบครัว ด้วยการสร้าง 3 ส. ได้แก่ 1.การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน 2.การสื่อสารที่ดีต่อกัน และ 3.การใส่ใจซึ่งกันและกัน นับเป็นวัคซีนสำคัญที่จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทย” อธิบดีกรมสุขภาพจิตระบุ

นพ.เจษฎากล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทย ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 6 ต่อ ประชากร 100,000 คน ในปี 2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า ตามเวลาสิ้นสุดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ผ่าน 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่

1.คัดกรอง ประเมิน บำบัดรักษา และติดตามกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอย่างใกล้ชิด

2.เพิ่มการเข้าถึงบริการ ค้นหาเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ อาทิ ผู้ที่มีประวัติฆ่าตัวตายและมีความรุนแรงในครอบครัว มีปัญหาติดสุรา โรคจิต โรคซึมเศร้า และโรคเรื้อรัง ให้เข้าสู่ระบบบริการช่วยเหลือดูแล

3.พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย น่าเชื่อถือ นำเสนอข้อมูลปัญหาของแต่ละเขตบริการสุขภาพ เพื่อใช้กำกับติดตาม ประเมินสถานการณ์ และวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

4.ยกระดับปัญหาการฆ่าตัวตายให้เป็นปัญหาระดับชาติ ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ เอกชน สื่อมวชน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชน เกิดความตระหนัก เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพจิต ใส่ใจสัญญาณเตือนเพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย และลงมือแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการศึกษาถึงปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้คนไทยฆ่าตัวตายของ รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ พบ ความรักความหึงหวงที่นำไปสู่การทำร้ายตัวเองมากที่สุด รองลงมาคือ โรคซึมเศร้า และน้อยใจคนใกล้ชิดดุด่าว่ากล่าว

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณร้อยละ 2 จะทำร้ายผู้อื่นร่วมด้วย ขณะที่อีกร้อยละ 8 พบว่าเคยถูกทำร้ายมาก่อน และอีกร้อยละ 19 เป็นกลุ่มที่เคยทำร้ายตัวเองมาก่อน และผู้ที่คิดฆ่าตัวตายส่วนมากจะทำสำเร็จเมื่อพยายามฆ่าตัวตายครั้งที่ 5 ขึ้นไป

ด้าน พ.อ.หญิง นวพร หิรัญวิวัฒน์กุล นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย แนะแนวทางการสังเกตผู้ที่ส่งสัญญาณคิดฆ่าตัวตาย รวมถึงวิธีช่วยแก้ไขปัญหาว่า การแสดงออกถึงการจะทำร้านตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือพฤติกรรม เช่น การส่งข้อความ ภาพ คลิปวิดีโอ ข่มขู่ตัดพ้อ หรือพูดจาสั่งเสียเป็นนัย แม้แต่การโพสต์ภาพวิธีที่จะใช้ฆ่าตัวตาย ที่ผู้คิดฆ่าตัวตายทำซ้ำ ๆ ถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่สุด ไม่ควรมองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ หรือล้อเล่น แต่จำเป็นต้องดำเนินการช่วยเหลือทันที

“การช่วยอย่างดีที่สุดคือการทำให้ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายตั้งสติให้ได้ ซึ่งหากไม่สามารถช่วยเหลือจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง อาจช่วยผ่านการเชื่อมต่อหาคนที่ผู้คิดฆ่าตัวตายรัก ไว้ใจ หรือใกล้ชิดที่สุด หรือขอความช่วยเหลือผ่านผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ เพื่อช่วยดึงสติกลับมา” นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุ

พ.อ.หญิง นวพร กล่าวอีกว่า การฆ่าตัวตายไม่ใช่พฤติกรรมเลียนแบบ ที่จะกลายเป็นเทรนด์แฟชั่น แม้จะมีการโพสต์ข้อความหรือภาพผ่านสื่อโซเชียลที่อาจก่อให้เกิดการเลียนแบบบ่อยครั้ง เพราะความคิดอยากฆ่าตัวตายเกิดขึ้นเฉพาะตัวบุคคล ซึ่งมาจากปัจจัยจากทั้งภายนอกและภายใน ปัจจัยภายนอกเช่น ภาวะทางเศรษฐกิจ ปัจจัยภายในคือปัญหาวิกฤติที่ตนเองไม่สามารถจัดการได้ ทนต่อปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ ท้อแท้ และไม่มีคนที่เข้าใจให้คำปรึกษา เป็นต้น

“สังคมควรตระหนักในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะแท้จริงแล้วไทยเป็นสังคมเปราะบาง และใช้อารมณ์เป็นหลัก เวลาเกิดอะไรขึ้นมักจะหูเบา ปากเบา มือเบา ไม่คิดไตร่ตรองก่อนจะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หลายครั้งจึงเป็นการซ้ำเติมผู้ที่คิดอยากฆ่าตัวตาย และนำไปสู่การฆ่าตัวตายสำเร็จ ซึ่งบางครั้งเกิดจากการคิดเพียงเสี้ยววินาที โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นที่พบว่าทุกวันนี้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมาก เมื่อบวกกับความคึกคะนองของวัยผลลัพธ์จึงจบลงที่การคิดฆ่าตัวตายไม่น้อย ฉะนั้น การเสนอข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งถ้าหากสื่อฯ ระมัดระวังในเรื่องนี้ จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายและป้องกันการทำตามได้” พ.อ.หญิง นวพร กล่าว

ติดตามข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง