ฆ่าตัวตายป้องกันได้! ชวนรู้บันได 8 ขั้น ช่วยยับยั้งอัตวินิบาตกรรม

สังคม
9 ก.ย. 59
16:44
2,483
Logo Thai PBS
ฆ่าตัวตายป้องกันได้! ชวนรู้บันได 8 ขั้น ช่วยยับยั้งอัตวินิบาตกรรม
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลสัญญาณเตือนถึงพฤติกรรมของบุคคลที่อาจกำลังคิดฆ่าตัวตาย พร้อมวิธีป้องกันและช่วยเหลือที่สามารถปฏิบัติได้ทันที รวมถึงวิธีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่ถูกต้องแก่สื่อมวลชน

วันนี้ (9 ก.ย. 2559) สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย โดย พ.อ.หญิง นวพร หิรัญวิวัฒน์กุล นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลสัญญาณเตือนถึงพฤติกรรมของบุคคลที่อาจกำลังคิดฆ่าตัวตาย พร้อมวิธีป้องกันและช่วยเหลือที่สามารถปฏิบัติได้ทันที รวมถึงวิธีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่ถูกต้องแก่สื่อมวลชน เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2559 (World Suicide Prevention Day 2016) 

พ.อ.หญิง นวพร หิรัญวิวัฒน์กุล นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

 

ประโยคที่เป็นสัญญาเตือนความเสี่ยงที่บุคคลกำลังคิดฆ่าตัวตาย

โดย ประโยคที่เป็นสัญญาเตือนความเสี่ยงที่บุคคลกำลังคิดฆ่าตัวตาย ได้แก่

1.สิ้นหวัง “จะอยู่ไปทำไม ไม่มีทางที่มันจะดีขึ้น”
2.รู้สึกผิด “ทั้งหมดเป็นความผิดของฉันเอง ฉันสมควรโดนตำหนิ”
3.อยากหลีกหนี “ฉันทนรับมือกับมันอีกไม่ไหวแล้ว
4.โดดเดี่ยว “ฉันอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีใครสนใจฉัน”
5.เสียชื่อเสียง “ฉันรู้สึกเสียหน้าอย่างรุนแรง ไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก”
6.ไม่มีทางช่วยเหลือ “ไม่มีทางที่จะทำให้มันดีไปกว่านี้ ฉันทำอะไรไม่ได้แล้ว”
7.พูดเรื่องความตายหรือการฆ่าตัวตาย “ถ้าตายไปคงจะจบปัญหา”
8.พูดเรื่องการวางแผนฆ่าตัวตาย “อยากจะกินยาตายจะได้ไม่ต้องทนทุกข์แบบนี้”

บันได 8 ขั้น ป้องกันการฆ่าตัวตายสำหรับผู้มีความเสี่ยงคิดฆ่าตัวตาย

ส่วน บันได 8 ขั้น ป้องกันการฆ่าตัวตายสำหรับผู้มีความเสี่ยงคิดฆ่าตัวตาย โดยผู้คนใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงควรปฏิบัติ ดังนี้

1.มองปัญหาการฆ่าตัวตายว่าเป็นเรื่องที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง
2.บอกคนใกล้ชิดเสมอ “มีอะไรขอให้บอก”
3.ฟังอย่างตั้งใจและเสนอความช่วยเหลือ
4.เก็บสิ่งที่อาจใช้เป็นอาวุธ
5.อย่าให้คนที่มีความเสี่ยงอยู่เพียงลำพัง
6.พยายามชี้ทางเลือกด้านบวกที่มีอยู่หลากหลาย
7.อย่าสัญญาว่าจะเก็บเป็นความลับ
8.ขอความช่วยเหลือจากบุคลากรที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ 

การดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการฆ่าตัวตายของบุคคลใกล้ชิด

ขณะที่ การดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการฆ่าตัวตายของบุคคลใกล้ชิด สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำว่า หากผู้ได้รับผลกระทบมีพฤติกรรม ดังนี้

1.รู้สึกตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา
2.รู้สึกว่างเปล่าหรือหมดเรี่ยวแรงอย่างมาก
3.ฝันร้าย/ สะดุ้งตื่นกลางดึก หรือมีปัญหาการนอน
4.ยังมีความรู้สึกต่อเหตุการณ์อย่างรุนแรง เช่น รู้สึกกลัว รู้สึกผิด หรือถูกทอดทิ้งอย่างรุนแรง
5.หลีกเลี่ยงการรับรู้ความรู้สึกของตนเอง
6.ไม่สามารถควบคุมความโกรธ หรือความเจ็บปวดได้
7.พฤติกรรมถดถอย เช่น สูบบุหรี่ การดื่มหรือรับประทานอาหารที่ผิดปกติ รวมถึงการซื้อยานอนหลับ/ คลายเครียด กินเอง
8.แยกตัวจากสังคมอย่างชัดเจน
9.ในเด็กอาจมีปัสสาวะรดที่นอน หรือกลับไปมีพฤติกรรมถดถอยกว่าวัย หรือมีปัญหาการเรียนได้

ควร ดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและฆ่าตัวตาย ดังนี้

1.อย่ากังวลว่าจะพูดอะไรดี เพียงแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจด้วยการฟังอย่างตั้งใจ
2.อย่าปล่อยไว้เนิ่นนาน ควรติดตามดูเป็นระยะ
3.อย่าตื่นตกใจ เมื่อผู้ได้รับผลกระทบพูดถึงความรุนแรงหรือพูดถึงผู้ตาย ให้โอกาสเขาพูดถึงผู้ตาย
4.อย่าพยายามบอก “ให้เลิกคิดถึงเหตุการณ์” เพราะอาจต้องใช้เวลา
5.ยินยอมให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบแสดงความเสียใจหรือร้องไห้
6.สนับสนุนให้ทำกิจกรรมที่เกิดความรู้สึกทางบวก
7.ขอความช่วยเหลือจากบุคลากรที่เชี่ยวชาญ 

วิธีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชน

สำหรับ วิธีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชน ควรปฏิบัติดังนี้

จากผลการศึกษาพบว่า การนำเสนอเรื่องความรุนแรงและการฆ่าตัวตายผ่านสื่อต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้อง จะเพิ่มอัตรการการเกิดความรุนแรงและการฆ่าตัวตายมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมเลียนแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เด็ก วัยรุ่น และผู้มีปัญหาสุขภาพจิต มากขึ้น สื่อมวลชนจึงควรหลีกเลี่ยง

1ใช้ภาษาอธิบายที่มาที่ไปแบบง่ายดาย หรือดรามา เช่น “นักเรียนหัวกะทิฆ่าตัวตายเพราะสอบตก”
2.ใช้ภาษาที่ทำให้รู้สึกว่า การฆ่าตัวตายเป็นทางออกของปัญหาที่ดีและสวยงาม เช่น “จบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย” หรือ “หลับไปโดยไม่เจ็บปวด”
3.พาดหัวข่าวในตำแหน่งที่เด่นชัดบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือหน้าจอข่าวทีวี หรือนำเสนอข่าวซ้ำ ๆ
5.นำเสนอรายละเอียดข้อความ หรือจดหมายลาตาย
6.ใช้ความรู้สึก ประสบการณ์ของผู้รายงานข่าว ตัดสินถูกผิดต่อการกระทำที่เกิดขึ้น

โดย สิ่งที่สื่อมวลชนควรปฏิบัติ

1.ใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขความเชื่อที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน และให้ความรู้เรื่องการฆ่าตัวตาย เช่น ความจริงที่การฆ่าตัวตายมักมีโรคทางจิตเวชร่วมด้วย
2.ให้ข้อมูลแก่ประชาชน ถึงการดูแลตัวเองเบื้องต้นหรือสถานที่ติดต่อขอความช่วยเหลือ
3.พิจารณาเลือกเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอข่าว
4.ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้เสียชีวิต ญาติ หรือผู้ใกล้ชิด
5.เน้นการนำเสนอข่าวว่าการฆ่าตัวตายเป็นการสูญเสียอย่างยิ่ง และสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาแก่ครอบครัวและสังคม

สำหรับผู้ที่เสี่ยงคิดฆ่าตัวตาย หรือผู้ใกล้ชิดผู้เสี่ยงคิดฆ่าตัวตาย สังเกตเห็นถึงพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดการฆ่าตัวตาย สามารถขอคำปรึกษาได้ที่

1.สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อพูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต และ สายด่วนความรู้สุขภาพจิต 1667 ที่มีเทปบันทึกเสียงให้ความรู้เรื่องโรคที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต

2.สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย กทม. โทร.0-2713-6791 ทุกวัน ตั้งแต่ 12.00-22.00 น. ศูนย์เชียงใหม่ โทร.0-5322-5977 ถึง 78 ทุกวัน ตั้งแต่ 19.00-22.00 น.
หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย หรือ ThaiPsychiatricAssociation

ติดตามข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง