เปิด 7 ประเด็น ครม.-คสช.แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

การเมือง
9 มิ.ย. 58
15:59
249
Logo Thai PBS
เปิด 7 ประเด็น ครม.-คสช.แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

คสช.และครม.เห็นชอบร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวรวม 7 ประเด็น ระบุทางออกไว้ชัดเจนถ้าร่างฉบับถาวรไม่ผ่าน สนช.หรือไม่ผ่านการทำประชามติ

วันนี้ (9 มิ.ย.2558) คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 รวม 7 ประเด็น

1.แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิก สนช.จากที่ห้ามผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งให้เป็นผู้ที่ไม่อยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง

2.แก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลผู้เข้ารับตำแหน่งถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อองค์รัชทายาทตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

3.เพิ่มความในมาตรา 37 ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาและลงมติเห็นชอบขยายเวลาการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ไม่เกิน 30 วัน

4.เพิ่มความในมาตรา 46 ให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจาก สปช.แล้ว ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำส่งให้ กกต.จัดออกเสียงประชามติ โดยออกประกาศกำหนดทั้งเงื่อนไขและกรอบเวลาผ่านการพิจารณาของ สนช.

5. ข้อกำหนดในของประเด็นคำถามของประชามติ นอกจากคำถามเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแล้ว ให้มีคำถามจากมติของ สปช.และ สนช. สภาละ 1 คำถามเท่านั้น และกำหนดให้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายอย่างน้อย ร้อยละ 80 ของครัวเรือน

6.เมื่อ สปช.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้ถือว่าสิ้นสุดหน้าที่ลง โดยกำหนดให้ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศรวม 200 คน จากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีหน้าที่เสนอแนวทางการปฏิรูป แต่ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

7.หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบและเป็นเหตุให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ สิ้นสุดลงแล้ว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรวม 21 คน โดยมีประธาน 1 คน และกรรมการ 20 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรรมนูญฉบับใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หรือ 180 วัน ก่อนจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

สำหรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 นี้ คาดการณ์ว่าจะสามารถส่งให้ สนช. เข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้ภายใน 2 วันนี้ ขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ (วิป สนช.) เตรียมนัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในสัปดาห์หน้าหรือประมาณวันที่ 18-28 มิถุนายนนี้ โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เปิดเผยว่า สนช.จะใช้วิธีพิจารณาภายในวันเดียวแบบ 3 วาระรวด

ด้านนายวิษณุ เครืองาม ระบุด้วยว่าคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ไม่ได้มีข้อบัญญัติห้ามบุคคลเดิมเข้ารับตำแหน่งอีกครั้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง