บาดแผลที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง คำขอโทษของรัฐและน้ำตาของผู้สูญเสีย

ภูมิภาค
13 ก.ย. 59
17:28
2,476
Logo Thai PBS
บาดแผลที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง คำขอโทษของรัฐและน้ำตาของผู้สูญเสีย
14 ก.ย.2559 ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำสั่งการไต่สวนการตายของชาย 4 คน ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่ง 2 ใน 4 คนนั้นเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฟาฏอนี

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2558 เหตุปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อปฏิบัติการนี้จบลงที่การวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ 4 คน คือ นายคอลิด สาแม็ง นายมะดารี แม้เราะ นายซัดดัม วานุ และนายสุไฮมี เซ็น และควบคุมตัวประชาชนจำนวนหนึ่งไปสอบสวน

สำหรับผู้เสียชีวิตนั้น ทราบภายหลังว่า 2 ใน 4 คน คือนายคอลิดและนายมะดารีเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จากประวัติการศึกษาที่ผ่านมาของทั้งสองคน ไม่ปรากฏพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นแนวร่วมกองกำลัง RKK

"ทั้งสองคนไม่เคยมีหมายจับในคดีความมั่นคงใดๆ และมหาวิทยาลัยไม่เคยได้รับหนังสือเตือนจากฝ่ายความมั่นคงที่ระบุว่านักศึกษาทั้งสองคนมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง" แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยระบุ

นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานียังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการสรุผลการสอบสวนเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2558 ว่า "ไม่ปรากฏว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คน มีพฤติการณ์เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือแนวร่วมมาก่อน จะมีเพียงผู้เสียชีวิตบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องและเคยถูกจับกุมในคดียาเสพติด เสพน้ำกระท่อม"

คณะกรรมการระบุด้วยว่า จากการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่และพยานบุคคลหลายคน ยืนยันตรงกันว่าไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4 คนครอบครองอาวุธ คณะกรรมการจึงเชื่อว่าอาวุธปืนของกลางไม่ใช่เป็นของผู้ตายตั้งแต่ต้น

หลังจากการแถลงผลการสอบสวนข้อเท็จจริง พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4 ในขณะนั้นกล่าวคำ "ขอโทษ" ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ขณะที่นายอิสมาแอลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ถึงกับหลั่งน้ำตาที่ต้องสูญเสียลูกศิษย์ซึ่งเป็นเยาวชนผู้บริสุทธิ์ในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

เหตุวิสามัญฆาตกรรมที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง ได้กลายเป็นอีกหนึ่งบาดแผลในใจของทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่น่าเศร้าก็คือเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่รัฐยกให้เป็นต้นแบบแก้ปัญหาไฟใต้ที่เรียกว่า "ทุ่งยางแดงโมเดล" 

วันพรุ่งนี้ (14 ก.ย.2559) เหตุวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพที่บ้านโต๊ะชูดจะเดินทางมาถึงจุดสำคัญ เมื่อศาลจังหวัดปัตตานีจะมีคำสั่งในการไต่สวนการตายของทั้ง 4 คน ซึ่งทนายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมระบุว่า หากศาลมีคำสั่งว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อไป

ทีมข่าวไทยพีบีเอสพูดคุยกับครอบครัวของคอลิดและซัดดัม นักศึกษาวัย 24 ปี 2 คนที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งในวันพรุ่งนี้ ซึ่งดูเหมือนว่า ไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาเป็นเช่นไร ก็ไม่อาจลบความโศกเศร้าและความสูญเสียของพวกเขาได้

พี่สาวของ "ซัดดัม วานุ" : เหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้น

แม้ว่าเหตุการณ์ปิดล้อมที่บ้านโต๊ะชูดจะผ่านมาแล้ว 18 เดือน แต่ ฮูดา วานุ พี่สาวของซัดดัมบอกว่าเธอและครอบครัวยังทำใจไม่ได้กับความสูญเสียครั้งนี้ การแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมของหน่วยงานที่นำสิ่งของมามอบให้เป็นระยะๆ รวมถึงครั้งล่าสุดช่วงก่อนวันฮารีรายอในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำให้เหมือนว่าเหตุการณ์เพิ่งผ่านมาไม่กี่วัน

ทุกครั้งที่ศาลจังหวัดปัตตานีนัดสืบพยานในการไต่สวนการตาย ฮูดาจะขี่มอเตอร์ไซค์มากับน้าสาวจากบ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง เป็นระยะทางกว่า 30 กิโลเมตรมาที่ศาล ทีมข่าวไทยพีบีเอสพบเธอและน้าสาวในการวันสืบพยานนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2559 ฮูดาบอกว่าครอบครัวของเธอยังทำใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ โดยเฉพาะพ่อและแม่ที่ยังเสียใจกับการจากไปของซัดดดัม ลูกชายคนที่ 3 จากลูกทั้งหมด 6 คน

"เวลาที่น้องชายอีกคนกลับเข้าบ้าน พ่อกับแม่จะนึกว่าเป็นซัดดัม เป็นแบบนี้มาปีกว่าแล้ว เหมือนว่าเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นมา 2-3 วันนี้เอง" เธอเล่า

ฮูดาบอกว่าก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุ พ่อออกรถมาให้ซัดดัมคันหนึ่ง หวังให้ลูกชายใช้หารายได้ด้วยการขับรับส่งนักเรียน แต่ซัดดัมกลับมาเสียชีวิตเสียก่อน ฮูดาบอกว่า หากซัดดัมยังมีชีวิตอยู่ วันนี้เขาคงใช้ชีวิตตามแบบคนหนุ่มทั่วไปในหมู่บ้าน

 

น้าสาวของซัดดัมเสริมว่า ซัดดัมทำงานเก่ง แต่ละวันรับจ้างคลุกขี้ยางที่สวนยางของพี่สาวและสวนของคนอื่นๆ ได้เงินวันละกว่า 1,000 บาท งานรับจ้างทั่วไปเขาก็ทำ ซึ่งเขามักจะแบ่งเงินที่หาได้มาให้พ่อแม่เสมอ

บ้านหลังที่ซัดดัมถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2558 ก็เป็นบ้านที่ซัดดัมกับพ่อของเขาไปรับจ้างก่อสร้าง น้าสาวของซัดดัมบอก

"หวังว่าเขาจะให้ความยุติธรรมแก่เราบ้าง" ฮูดากล่าวถึงความหวังที่มีต่อคดีไต่สวนการตายของน้องชาย  

แม่ของ "คอลิด สาแม็ง": พร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของลูกชาย

นางซูรายา สาแม็ง แม่ของคอลิดกล่าวว่า จากการฟังการให้การของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจระหว่างการไต่สวนการตายในศาล มีการให้ข้อมูลว่าผู้ตายมีอาวุธ และเป็นฝ่ายที่เริ่มยิงก่อน สวนทางกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงออกมาว่าผู้ตายไม่มีอาวุธ ทำให้เธอรู้สึกไม่มั่นใจนักว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาเช่นไร แต่เธอยืนยันว่า "พร้อมที่จะสู้ต่อไปเพื่อความยุติธรรมและเพื่อความบริสุทธิ์ของลูกชาย" 

คอลิดและซัดดัมเสียชีวิตไม่นานก่อนที่พวกเขาจะจบการศึกษาเป็นบัณฑิตคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ดร.อิสมาแอลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ให้ข้อมูลต่อศาลในการสืบพยานนัดสุดท้ายว่า นักศึกษาทั้ง 2 คนที่เขาเรียกว่า "ลูกๆ" อยู่ระหว่างการทำสารนิพนธ์สำหรับจบการศึกษาชั้นปีที่ 4 และมีข้อมูลว่า พบกระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กในที่เกิดเหตุด้วย

ครอบครัวสาแม็ง (ภาพ : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม)

ศอ.บต.พร้อมเยียวยาเพิ่มเติม

ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่บ้านโต๊ะชูดได้รับเงินเยียวยาครอบครัวละ 500,000 บาท ตามเกณฑ์เยียวยาแก่ผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่ในกรณีนี้ หากศาลมีคำสั่งการไต่สวนการตายว่า เจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุก็จะเข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พ.ศ.2555 ว่าหาก ศอ.บต.เห็นสมควรว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉพาะกรณี ให้ช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 7,000,000 บาท

 

นายภาณุ อทุยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต.บอกกับไทยพีบีเอสว่า ในกรณีนี้ ศอ.บต.ได้เยียวยาเบื้องต้นแล้ว และหลังจากที่ศาลมีคำสั่งเรื่องผลการไต่สวนการตายออกมาอย่างไร ศอ.บต.จะดำเนินการเยียวยาตามเกณฑ์การเยียวยาอีกครั้ง ซึ่งหลักเกณฑ์อยู่ระหว่างการปรับปรุงใหม่ในช่วงการบริหารงานของ คสช.  

ปลายทางของคดีวิสามัญฆาตกรรมที่บ้านโต๊ะชูด

นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งเป็นทนายให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุวิสามัญฆาตกรรมที่บ้านโต๊ะชูด กล่าวว่า ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ หากศาลเห็นว่าเจ้าหน้าที่มีเจตนายิงผู้ตายหรือป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ ศาลจะมีคำสั่งว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากนั้นก็จะส่งสำนวนไปยังตำรวจเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ฆ่าคนตายโดยเจตนา หลังจากนั้นจะเริ่มต้นกระบวนการของคดีในชั้นศาลอีกครั้ง

 

อับดุลกอฮาร์อธิบายว่าในต่างประเทศ คดีในลักษณะนี้ ศาลจะลงไปในพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริง บางประเทศให้แพทย์มีบทบาทนำ ไม่ใช่พนักงานสอบสวน เนื่องจากแพทย์จะสามารถอธิบายการเสียชีวิตได้ดีกว่าพยานที่เห็นเหตุการณ์

เมื่อดูจากคดีในลักษณะเดียวกันที่ผ่านมา อับดุลกอฮาร์ยอมรับว่ากว่าจะไปถึงจุดที่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

"ในคดีวิสามัญฆาตกรรม เราจะเห็นว่ากระบวนการทางกฎหมายยากที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง" อับดุลกอฮาร์กล่าวทิ้งท้าย

ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง