Long Story Shorts การกลับมาของพื้นที่หนังสั้น

Logo Thai PBS
Long Story Shorts การกลับมาของพื้นที่หนังสั้น
หลายคนอาจมีภาพจำว่าหนังสั้นเป็นเพียงหนังประกวดสำหรับนักศึกษา ทำให้ตอนนี้มีคนทำหนังสั้นกลุ่มหนึ่งพยายามพัฒนาหนังสั้นให้เป็นมากกว่าหนังประกวด สร้างพื้นที่และโอกาสเพิ่มให้กับนักทำหนังรุ่นใหม่

ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวใน วันนั้นของเดือน เจ้าของรางวัล Jury Mention เทศกาลภาพยนตร์สั้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก Clermont Ferrand ประเทศฝรั่งเศส หรือความรักของหนุ่มสาววัยมัธยมจาก จ.สงขลา ในเรื่อง ฝน ที่สร้างชื่อจากเทศกาลภาพยนตร์สั้น และ Young Thai Artist Award ปี 2015 รวมถึง Glowstick ถ่ายทอดถึงความสัมพันธ์ของเพื่อนสนิทในช่วงเวลาเลวร้ายที่ได้วิโอเล็ต วอร์เทียร์ และดิว ฮอร์ โมน แสดงนำ คือ ภาพยนตร์สั้น 3 เรื่องของจิรัศยา วงษ์สุทิน เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ และปภาวี จิณสิทธิ์ ที่ถูกนำมารวมกันในชื่อ "Lost in blue ระหว่างเราครั้งก่อน" โปรเจกต์แรกของไทยที่รวมหนังสั้นเข้าฉายโรงครั้งแรก หวังสร้างพื้นที่ให้ผลงานนักศึกษาไปไกลมากกว่างานประกวด

 

3 ผกก.-ปภาวี จิณสิทธิ์-จิรัศยา วงษ์สุทิน-เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์

 

"อยากให้มองหนังสั้นในแบบที่ไม่ใช่พื้นที่มือสมัครเล่น แต่อยากให้มองในการเล่าเรื่องราวในระยะเวลาสั้น อยากให้หนังสั้นได้มีโอกาสมีพื้นที่เท่ากับหนังยาว เป็นหนังที่ทำเงินได้ ขายได้" ปภาวี ที่กำกับเรื่อง Glowstick บอกกับไทยพีบีเอส เช่นเดียวกับจิรัศยา วงษ์สุทิน กำกับเรื่อง วันนั้นของเดือน บอกว่าเมื่อมีตัวหนังอยู่แล้ว การนำเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ แม้จะต้องลงทุนเพิ่มอีก แต่ก็จะได้รับการตอบรับกลับมา ทั้งในเรื่องรายได้และคนดูด้วย

ด้านธัญ เปลวเทียนยิ่งทวี ผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ Long Story Shorts เปรียบเทียบภาพโอกาสการเข้าฉายของหนังสั้นในไทยและต่างประเทศว่า ที่ต่างประเทศหนังสั้นเข้าโรงอาจจะไม่ได้เข้าทุกเดือนเหมือนหนังทั่วไป แต่จะมีรูปแบบการจัดเป็นอีเวนท์ที่หนังสั้นเป็นชุดเพื่อเข้าฉายในโรง นอกจากนี้หนังอินดี้ หนังสั้น จะมีโรงทางเลือก แต่ในไทยไม่มีแบบนี้

 

ก่อนที่หนังสั้นและหนังนักเรียนจะได้ฉายในโรงอย่างทุกวันนี้ เกือบ 10 ปีที่แล้วพื้นที่สำหรับคนทำหนังสั้นก็เคยคึกคักด้วยแรงผลักดันของเว็บไซต์ ThaiShortFilm.com ชุมชนคนทำหนังสั้น ซึ่งก่อตั้งโดย ศิโรตม์ ตุลสุข, บุญส่ง นาคภู่, ลี ชาตะเมธีกุล รวมถึงอาทิตย์ อัสสรัตน์ สร้างเป็นทั้งพื้นที่พบปะและตลาดสำหรับขายผลงาน รวมถึงการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปสำหรับคนรุ่นใหม่ ทั้งยังเคยทำให้ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ลาออกจากข้าราชการครู มาเป็นคนทำหนังถึงปัจจุบัน แต่ด้วยปัญหาหลายด้านที่ต้องเจอตลอด 10 ปี ก็ทำให้พื้นที่สำหรับหนังสั้นหดหายไปในที่สุด

"เราเข้าไปอยู่ในหนังเกือบทุกเรื่อง ทำหน้าที่สัมภาษณ์ผู้กำกับในเครดิตท้ายหนัง มีทั้งหนังของตัวเองที่ฉายใน ThaiShortFilm และหนังที่รวบรวม และพี่ศิโรตม์ให้เราสัมภาษณ์ผู้กำกับในท้ายหนัง พี่โรตม์ช่วยแนะนำให้รู้จักกับผู้กำกับ โปรดิวเซอร์หลายคนในวงการหนังใหญ่ ซึ่งเรามาอยู่ตรงนี้ได้เพราะเว็บไซต์ ThaiShortFilm" ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

ความนิยมของภาพยนตร์สั้น ยังเห็นได้จากจำนวนผู้เข้าประกวดที่เพิ่มขึ้นในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ของมูลนิธิหนังไทย ที่จัดติดต่อกันมานานถึง 20 ปี ขณะเดียวกัน เว็บไซต์อย่าง ThaishortFilm.com ก็ประกาศกลับมาดำเนินการอีกครั้ง รวมถึงการจัดเวทีประกวดของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนก็เป็นพื้่นที่ให้คนทำหนังรุ่นได้ได้ฝึกฝีมือก่อนเข้าสู่อุตสาหกรรมจริง

สำหรับโปรเจกต์หนังสั้น Long Story Shorts 3 หญิงสาว 3 ความทรงจำ 3 เรื่องราวความรัก จาก 3 ผู้กำกับรุ่นใหม่ จะเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟเวิลด์ เซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ 22 กันยายนนี้

กวินภพ พันธุฤกษ์ ไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง