ประธาน กสม.ชี้ คำสั่งหัวหน้า คสช. "ยกเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร" ยังไม่ชัดเจน

อาชญากรรม
20 ก.ย. 59
19:38
263
Logo Thai PBS
ประธาน กสม.ชี้ คำสั่งหัวหน้า คสช. "ยกเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร" ยังไม่ชัดเจน
วันนี้ (20 ก.ย.2559) นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม.ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 55/2559 ว่าด้วยการยกเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร โดยระบุว่าคำสั่งดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่า พลเรือนที่มีคดีค้างในศาลทหารจะโอนคดีไปศาลยุติธรรมได้หรือไม่

ในแถลงการณ์ฉบับนี้ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลำดับเหตุการณ์ของการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารว่า เริ่มต้นจากการที่ คสช.ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 จากนั้น คสช.ได้ออกประกาศและคำสั่งอีกหลายฉบับกำหนดให้ความผิดบางประเภทที่พลเรือนเป็นผู้ถูกกล่าวหา อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ซึ่ง กสม.เห็นว่าประกาศและคำสั่งเหล่านี้เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) และพันธกรณีระหว่างประเทศหลายฉบับ

"นอกจากนี้ การกำหนดให้นำคดีที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เข้าสู่การพิจารณาของศาลทหารนั้น ยังขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เนื่องจากกระบวนพิจารณาพิพากษาในศาลทหารมีลักษณะรวบรัดขั้นตอน เป็นเหตุให้คู่ความในคดีไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อต่อสู้คดีอย่างเพียงพอเมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับกระบวนการพิจารณาพิพากษาในศาลยุติธรรมปกติ อีกทั้งการกำหนดให้นำคดีที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร ยังขัดต่อหลักความเป็นอิสระในการพิจารณาอรรถคดี ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 เนื่องจากศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และไม่ได้แยกขาดจากอำนาจฝ่ายบริหารเนื่องจากศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม โดยตุลาการศาลทหารยังคงเป็นข้าราชการภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีอำนาจในการแต่งตั้งถอดถอนตุลาการศาลทหารตามสายการบังคับบัญชา ยกเว้นตุลาการศาลทหารสูงสุดและตุลาการศาลทหารกลางซึ่งต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งหรือถอดถอน" แถลงการณ์ของประธาน กสม.ระบุ


ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ที่มีเนื้อหาให้ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ซึ่งประธาน กสม.เห็นด้วยกับการออกคำสั่งฉบับนี้ เพราะสอดคล้องกับจุดยืนของ กสม.ที่เห็นควรให้นำผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งเป็นพลเรือนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมตามปกติ อันจะทำให้พลเรือนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พันธกรณีระหว่างประเทศ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้รับรองไว้

อย่างไรก็ตาม กสม.มีข้อสังเกตว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 55/2559 อาจมีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ เช่น พลเรือนซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประกาศ คสช.ที่กำหนดให้ต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลทหารก่อนวันที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 55/2559 จะมีผลใช้บังคับ หากพลเรือนที่ถูกกล่าวถูกจับกุม จะดำเนินคดีพลเรือนนั้นที่ศาลทหารหรือศาลยุติธรรม

นอกจากนี้ คดีของพลเรือนที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทหารนจะสามารถโอนไปศาลยุติธรรมได้หรือไม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 บัญญัติในเรื่องของการโอนคดีระหว่างศาลทหารด้วยกันเท่านั้น

รวมทั้งมีปัญหาด้วยว่าภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2558 แล้ว ศาลทหารในเวลาไม่ปกติจะยังคงมีอำนาจพิจารณาคดีที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหรือไม่

"กรณีดังกล่าวนี้อาจต้องอาศัยกลไกของคณะกรรมการวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 ในการแก้ไขปัญหาต่อไป จึงเห็นควรแจ้งให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป" นายวัสระบุ

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง