เตือน 7 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาระวังน้ำเพิ่มสูงขึ้น เหนือ-อีสานน้ำ ยังท่วมหลายพื้นที่

ภัยพิบัติ
21 ก.ย. 59
07:18
341
Logo Thai PBS
เตือน 7 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาระวังน้ำเพิ่มสูงขึ้น เหนือ-อีสานน้ำ ยังท่วมหลายพื้นที่
สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ขณะนี้พื้นที่ลุ่มต่ำหลายจังหวัดเกิดน้ำท่วมขัง และบางจังหวัดต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำป่า ขณะที่ภาคอีสานมีน้ำท่วม เจ้าหน้าที่เร่งรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

วานนี้ (20 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ยกบานระบายน้ำ เขื่อนระบายน้ำฝายวังยาง อ.เมืองมหาสารคาม ขึ้นสูงสุดทั้ง 6 บาน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวที่กำลังตั้งท้อง เนื่องจากขณะนี้มวลน้ำก้อนใหญ่ จากจ.ชัยภูมิและขอนแก่นยังไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนลำห้วยสำราญช่วงต.เมืองเหนือ อ.เมืองศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่นำรถแบคโฮตักผักตบชวาขึ้นจากน้ำ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการไหลของน้ำ ซึ่งจะท่วม 5 ชุมชนในเขตเทศบาลเมือง

ส่วนบ้านเรือนในชุมชนวังแดง เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ถูกน้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมสูงกว่า 1 เมตร เกือบ 1 สัปดาห์ แล้ว ทำให้ชาวบ้านบางส่วนอพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว

ขณะที่ระดับน้ำในลำน้ำอูน อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือน หลังฝนตกติดต่อกันหลายวัน รวมทั้งมีน้ำจากเทือกเขาภูพานไหลมาสมทบ เบื้องต้นศูนย์สำรวจอุทกวิทยาที่ 3 เตือนประชาชนริมลำน้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ และ ลำน้ำอูน ระวังน้ำป่าไหลหลาก และ น้ำท่วมฉับพลัน

 

ด้านเจ้าหน้าที่ อบต.รอบเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในหมู่บ้านเหล่าขี้เหล็ก แต่ไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เพราะถูกรอบล้อมด้วยหมู่บ้านจัดสรร ขณะที่มีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร นานกว่า 1 เดือน ทำให้ชาวบ้านเดินทางด้วยความอยากลำบาก

ส่วนที่จ.ตาก เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด เร่งทำความสะอาดโรงเรียนแม่สลิดหลวงวิทยา อ.ท่าสองยาง จ.ตาก หลังน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม ทำให้อุปกรณ์การเรียนเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ 80 เครื่อง ได้รับความเสียหาย รวมทั้ง สะพานคอนกรีตก็ถูกน้ำกัดเซาะขาด

บริเวณลำห้วยที่น้ำป่าไหลหลากมานั้น ฝ่ายปกครองจังหวัดตาก จะดำเนินการสร้างพนังกั้นน้ำ เพื่อป้องกันในระยะยาว เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้ถูกน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมทุกปี

ที่จ.พะเยา เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา กำจัดเศษวัชพืชและผักตบชวา ที่กีดขวางประตูระบายน้ำ บริเวณหน้าประตูระบายน้ำกว๊านพะเยา เพื่อให้น้ำไหลอย่างสะดวก หลังปริมาณการกักเก็บน้ำเกินความจุ เกรงว่าจะส่งผลกระทบกับพื้นที่เหนือน้ำ

ส่วนสถานการณน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ช่วยกันทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม เพื่อเตรียมเปิดเรียนตามปกติ หลังถูกน้ำท่วมขังหลายวัน

 

ที่จ.พิษณุโลก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามปัญหา และหาแนวทางแก้ไข ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่บ้านหนองขานาง ต.คุยม่วง อ.บางระกำ เบื้องต้น สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือ และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวนาเร่งเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันความเสียหาย

จ.สุโขทัย เจ้าหน้าที่เร่งสูบระบายน้ำที่ท่วมขังสถานที่ราชการ และชุมชนต่างๆ ในพื้นที่อำเภอบ้านด่านลานหอย ล่าสุดระดับน้ำเริ่มลดลง เหลือเพียงพื้นที่ลุ่มต่ำบางจุด

ด้านเทศบาลนครนครสวรรค์ เร่งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงยกของขึ้นที่สูง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดต่างๆ เพื่อเตรียมรับน้ำท่วม หลังแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ขอให้ประชาชนที่ประกอบกิจการริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใน 7 จังหวัดภาคกลาง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานชลประทานที่ 12 มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการ 7 จังหวัด คือ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี ให้ระวังระดับน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น หลังปริมาณน้ำไหลผ่านจ.นครสวรรค์เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีปริมาณฝนตกกระจายตัวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวทางการควบคุมปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จะผันน้ำเข้าพื้นที่ชลประทานฝั่งตะวันตก และตะวันออกด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ตามศักยภาพที่สามารถรับน้ำเพิ่มได้ โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้ ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ประมาณ 50-70 เซนติเมตร และหากมีฝนตกหนักเพิ่มเติม จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลหลากผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม จึงขอแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ฝั่งอันดามันมีคลื่นลมแรง ร้านค้าริมชายหาดบางจังหวัดต้องหยุดให้บริการลูกค้า ขณะที่เรือข้ามฟากบางแห่งหยุดให้บริการ เพื่อความปลอดภัย

คลื่นลมแรงสูงกว่า 2 เมตร บริเวณท่าเรือบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ทำให้เรือข้ามฟากที่ท่าเรือบ้านน้ำเค็ม-เกาะคอเขา และแพขนาดใหญ่ ที่บรรทุกรถข้ามฟากไปยังหมู่บ้านเกาะคอเขา ต้องเข้ามาจอดหลบคลื่น ในคลองบ้านน้ำเค็มเพื่อความปลอดภัย

ไม่ต่างกับที่จ.กระบี่ ชาวประมงพื้นบ้านคลองโข่ง ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา ต้องเคลื่อนย้าย เรือ และเครื่องยนต์ ขึ้นจากทะเล นำมาไว้บนฝั่ง ป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรง หลังคลื่นพัดเข้าฝั่งอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ และชาวประมงต้องหยุดออกทำการประมงมากว่า 10 วัน

ส่วนผู้ประกอบการริมชายหาดปากเมง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง ต้องหยุดกิจการ และบางส่วนต้องขนย้ายทรัพย์สินหนีคลื่นลมแรง ขณะที่ต้นสนบริเวณแนวชายฝั่งระยะทางประมาณกว่า 1 กิโลเมตร ถูกคลื่นซัด ทำให้รากโผล่ลอยอยู่เหนือพื้นดิน ไม่มีดินเกาะยึด กำลังยืนต้นรอล้มเป็นแนวยาว ชาวบ้าน เรียกร้องให้จังหวัดเข้าหาแนวทางป้องกันอย่างเร่งด่วน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง