“สมัชชาแม่น้ำ” ทบทวนข้อบกพร่อง โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

สังคม
22 ก.ย. 59
18:41
214
Logo Thai PBS
“สมัชชาแม่น้ำ” ทบทวนข้อบกพร่อง โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

รัฐบาล และกรุงเทพมหานครได้จัดทำโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และได้จ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาโครงการเพื่อสำรวจออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขต กทม. 47 กม. ระยะแรก 14 กม. กำหนดให้มีการศึกษาและออกแบบภายในระยะเวลา 7 เดือน พบข้อบกพร่องสำคัญ 6 ข้อ

1.ข้อบกพร่องด้าน TOR ในการจัดการศึกษาโครงการ คือ

-การเปิดช่องให้มีการจัดจ้างสถาบันการศึกษามารับงานออกแบบและก่อสร้าง ส่งผลให้ผิดพระราชบัญญัติสถาปนิก ปี 2543 เพราะสถาบันการศึกษา ไม่มีชื่อเป็นนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนกับสภาสถาปนิก ซึ่งอาจส่งผลให้การจัดจ้างนี้ถูกยกเลิก

-TOR ไม่แยกงานศึกษาออกจากงานก่อสร้าง และยังระบุรายละเอียดของรูปแบบที่ต้องการในขั้นสุดท้ายไว้ล่วงหน้า (เหมือนกำหนดธงไว้ก่อน) เช่น การระบุให้มีทางที่มีความกว้างเพียงพอให้รถพยาบาล และรถดับเพลิงสัญจรได้ โดยไม่ต้องรอผลการศึกษา

-TOR กำหนดระยะเวลาการศึกษาน้อยเกินไป เพียงแค่ 7 เดือนถ้าเทียบกับเนื้องานที่ครอบคลุม 47 กิโลเมตรของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

2.ข้อบกพร่องเรื่องความโปร่งใส และความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ 120 ล้านบาท ในการศึกษา ออกแบบ จัดทำแผนแม่บทและพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กรณี ที่ปรึกษานำเสนอการออกแบบเบื้องต้น อาคารพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร หรือวิมานพระอินทร์ เพื่อเป็นจุดหมายตาริมแม่น้ำเจ้าพระยา กลับปรากฎตัวอาคารคล้าย The Cystal Island ประเทศรัสเซีย

3.ข้อบกพร่องเรื่องความไม่โปร่งใสของการเปิดเผยผลการศึกษาและบิดเบือนข้อเท็จจริง การดำเนินงานที่ผ่านมา มิได้ดำเนินการให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับข้อมูล จึงไม่อาจตรวจสอบผลการศึกษาว่าได้ดำเนินการครบถ้วนตามที่ระบุไว้ใน TOR หรือไม่ จึงไม่คุ้มครองสิทธิในข้อมูลข่าวสาร สิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน

4.ข้อบกพร่องด้านนโยบาย ขาดการวิเคราะห์ที่มาที่ไปตามหลักวิชาการ เพื่อรองรับเหตุผลว่าทำไมจึงกลายเป็นนโยบายเร่งด่วนต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต และการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ควรมีทางเลือกหรือแนวทางการพัฒนาอย่างไร แต่กลับตั้งธงเน้นการทำทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ขาดการบูรณาการนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำที่สอดคล้องกับ บริบท ศักยภาพ และความท้าทายของเมืองที่แท้จริง

5.ข้อบกพร่องด้านกระบวนการ ขาดการจัดลำดับความสำคัญของโครงการในแผนแม่บท เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ที่ปรึกษาไม่ได้เปิดเผยสาระแผนแม่บท รายงานการศึกษาความเหมาะสมและการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน ทั้งทางบวกและทางลบ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจของประชาชน

6.ข้อบกพร่องด้านรูปแบบ ขาดการคิดวิเคราะห์นโยบายที่บูรณาการประกอบกับกระบวนการดำเนินงานและการรับฟังความคิดเห็นที่รวบรัด ไม่เปิดโอกาสทางเลือกในการพัฒนาที่หลากหลาย มีเพียงรูปแบบโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ 7-10 เมตร เทียบเท่ากับถนน 3 ช่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง