กกต.เปิดร่าง พ.ร.ป. สว.เน้นหลากหลาย-ได้คนดี-ไม่บล็อคโหวต

การเมือง
26 ก.ย. 59
17:10
163
Logo Thai PBS
กกต.เปิดร่าง พ.ร.ป. สว.เน้นหลากหลาย-ได้คนดี-ไม่บล็อคโหวต
กกต.เผยร่างกฎหมายลูก ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดประสบการณ์ 20 ด้าน ยึด 3 หลักการ ต้องหลากหลาย ได้คนดีและไม่มีบล็อคโหวต พร้อมเพิ่มโทษเอาผิดผู้สมัครและฝ่ายการเมืองทุจริต มีสิทธิ์โดนทั้งใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงและใบดำ

วันนี้ (26 ก.ย.2559) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงว่า ที่ประชุม กกต. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่คณะทำงานของสำนักงาน กกต. เสนอ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นฉบับสุดท้ายใน 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งระดับชาติ ที่ กกต. ต้องส่งให้ กรธ. พิจารณาต่อไป

นายสมชัย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. เป็นฉบับที่พิจารณายากที่สุด เพราะไม่เคยปรากฎรูปแบบคัดเลือกเช่นนี้มาก่อน โดย กกต. ยึดหลักการ 3 ข้อ คือ ความหลากหลายของกลุ่มอาชีพ ได้คนดี มีความรู้ความสามารถ และไม่มีบล็อคโหวต

สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นเรื่องของกระบวนการ วิธีการที่จะทำให้ได้มาซึ่ง ส.ว 200 คนตามมาตรา 107 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ แบ่งเป็น 3 หมวด คือ หมวดการได้มาซึ่ง ส.ว. หมวดการสืบสวน หรือไต่สวนและวินิจฉัย หมวดการควบคุมการเลือกและบทกำหนดโทษและบทเฉพาะกาล

บุคคลที่จะเป็น ส.ว. ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในงานแต่ละด้าน ซึ่งร่างกฎหมายกำหนดเป็น 20 ด้าน ตามแนวความคิดของ กรธ. คือ 1.ด้านการบริหารความมั่นคง หรือการต่างประเทศ 2.ด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม 3.ด้านการบัญชี การเงิน การคลัง หรือการงบประมาณ 4.ด้านการศึกษา หรือวิจัย 5.ด้านการสาธารณสุข 6.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7.ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การแสดง หรือการกีฬา 8.ด้านกสิกรรม หรือป่าไม้ 9.ด้านปศุสัตว์ หรือประมง 10.ด้านลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรลูกจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง 11.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสาร สื่อสารมวลชน 12.ด้านการประกอบการธุรกิจ การค้า หรือการธนาคาร 13.ด้านการประกอบการอุตสาหกรรม 14.ด้านการประกอบวิชาชีพ 15.ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 16.ด้านทรัพยากรธรรมชาติหรือพลังงาน 17.ด้านองค์กรชุมชน หรือประชาสังคม 18.ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี 19.ด้านผู้ประกอบอาชีพอิสระ 20.ด้านอื่นๆ ซึ่งผู้สมัครแต่ละด้านต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 108 ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเป็นหลัก ยื่นลงสมัครได้เพียงด้านเดียวพร้อมค่าธรรมเนียม 500 บาท สามารถหาเสียงและทำเอกสารแนะนำตัวเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว การศึกษา ผลงานในการทำงานได้โดยตรง

ส่วนการเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 60 วัน โดย กกต.จังหวัดและคณะอนุกรรมการประจำอำเภอที่มีการแต่งตั้งขึ้น จะดำเนินการเลือกระดับอำเภอและระดับจังหวัด ส่วน กกต.กลางเลือกระดับประเทศ

เมื่อดำเนินขั้นตอนการสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติและประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครแล้ว หากผู้สมัครกลุ่มใดใน 20 กลุ่มมีจำนวนเกินกว่า 5 คน จะดำเนินการ 2 ขั้นตอน คือ ให้ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่มให้เหลือผู้สมัครกลุ่มละ 5 คน และให้ผู้ที่ผ่านการคัดกรองกันเอง 5 คนของแต่ละกลุ่มไปเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น 19 กลุ่มที่เหลือ หรือที่เรียกว่า "เลือกไขว้" โดยแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นได้กลุ่มละหนึ่งหมายเลข เพื่อให้ได้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนมากสุดเรียงลำดับลงมาจำนวน 3 คนในแต่ละกลุ่ม

หาก กกต.เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ไม่มีการคัดค้านก็จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกตามลำดับคะแนน 10 อันดับในแต่ละกลุ่ม 20 กลุ่มจำนวน 200 คน เป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. พร้อมจัดทำบัญชีสำรองของผู้ผ่านการคัดเลือกไว้บัญชีละ 10 รายชื่อ กรณีที่สมาชิกภาพของ ส.ว.ในกลุ่มใดสิ้นสุดลงก่อนครบวาระ 5 ปี ก็จะไม่ต้องมีการเลือกใหม่ แต่ให้เลื่อนจากบัญชีสำรองในแต่ละกลุ่มได้เลย

นายสมชัย ชี้แจงข้อกังวลของ สปท.ด้านการเมือง ถึงปัญหาการซื้อเสียงระหว่างกลุ่ม โดยชี้ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย สว. มีการกำหนดโทษผู้ทำการทุจริตไว้อย่างชัดเจน ซึ่งบทลงโทษนั้นส่วนใหญ่จะเหมือนกับที่บัญญัติในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีเพิ่มในส่วนผู้ใดกระทำการสนับสนุนให้บุคคลเข้าหรือไม่เข้ารับการสมัครเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนให้แก่ตน หรือผู้สมัครอื่น หรือลงสมัครเพื่อการเลือกโดยมีผลประโยชน์ตอบแทน รวมทั้งกรรมการบริหาร ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง ส.ส. ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด กระทำการโดยวิธีใดที่เป็นการช่วยเหลือให้ผู้สมัครได้รับเลือกเป็น ส.ว หรือผู้สมัครคนใดยินยอมให้บุคคลเหล่านี้ช่วยเหลือเพื่อให้เป็น ส.ว. อีกทั้งผู้ใดกระทำการให้สัญญาว่าจะให้ จัดเลี้ยง ใช้อิทธิพล เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนๆ ให้แก่ตน หรืองดเว้นลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด ให้ถือว่ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ฉบับนี้ จะส่งถึง กรธ.ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และจะแถลงรายละเอียดเป็นรายมาตราอีกครั้งในวันเดียวกัน

นอกจากนี้ นายสมชัย กล่าวถึงกรณี สปท.เสนอเซตซีโรองค์กรอิสระ รวมถึง กกต. เนื่องจากทำงานไม่เป็นทีม ว่าเป็นจิตนาการของ สปท. เพราะที่ผ่านมา กกต.ทำงานเป็นทีม ไม่มีความขัดแย้ง เห็นได้จากการพิจารณาร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ ที่เป็นไปตามกรอบเวลา

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง