มติ ครม.ยกเลิก "ขสมก." ประกอบการเดินรถรายเดียวใน กทม.

เศรษฐกิจ
27 ก.ย. 59
19:02
1,100
Logo Thai PBS
มติ ครม.ยกเลิก "ขสมก." ประกอบการเดินรถรายเดียวใน กทม.
ครม.ยกเลิกมติ ครม.ปี 2526 ที่ให้ ขสมก.เป็นผู้ประกอบการเดินรถรายเดียว ในกทม. พร้อมให้ถ่ายโอนการกำกับรถเอกชนร่วมบริการให้กรมการขนส่งทางบกดูแล หลังจากนี้ ขสมก.จะเป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่งเท่านั้น

วันนี้ (27 ก.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยกเลิก มติ ครม.เดิมเมื่อปี 2526 ที่ระบุให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว และรถร่วมฯเอกชน ต้องทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก. โดยมติใหม่ รถร่วม ขสมก. ต้องมาขอใบอนุญาตกับกรมการขนส่งทางบกแทน ส่วน ขสมก.เป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่ง กระบวนการหลังจากนี้ จะเข้าสู่การแก้กฎหมาย ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จกลางปีหน้า (2560)

สำหรับผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนที่เคยได้รับอายุสัญญาสัมปทาน 7 ปี หรือ ยังอยู่ในระหว่างสัมปทาน กระทรวงฯ จะพิจารณามาตรการเร่งด่วน บังคับสัญญาให้อายุสัมปทานสิ้นสุดภายในปี 2561 ซึ่งผู้ที่หมดอายุสัญญาสัมปทาน ต้องขอใบอนุญาตเส้นทางเดินรถจาก กรมการขนส่งทางบก

ด้าน นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า หลังจากที่มติ ครม. เดิมดังกล่าวยกเลิกไปแล้ว รถร่วม ขสมก. จะต้องมาขอใบอนุญาตกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนในบทบาทและแนวทางกำกับดูแลการเดินรถโดยสารในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) แต่เพียงผู้เดียว และให้ ขสมก. เป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถ (Operator) รายหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านการให้บริการเดินรถประจำทางในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นธรรม

พร้อมกันนี้ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการปรับแก้กฎหมายเพื่อรองรับการถ่ายโอน ได้แก่ การแก้ไข พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 เกี่ยวกับอายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง, แก้ไขกฎกระทรวง เรื่องอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบการขนส่ง, แก้ไขกฎกระทรวง เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อมารองรับการดำเนินการตามภารกิจดังกล่าว โดยจะดำเนินการตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง แต่จะเกิดประโยชน์การแข่งขัน คุณภาพการให้บริการในระยะยาว เช่น กำหนดโครงข่ายเส้นทางใหม่ จัดสรรเส้นทางการเดินรถตามโครงข่ายใหม่ กำหนดเงื่อนไขขอรับใบอนุญาต การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ จนกระทั่งสามารถออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งใหม่

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะแก้ไขปัญหาการเดินรถโดยสารประจำทางในปัจจุบัน ที่มีเส้นทางทับซ้อนและไม่ครอบคลุม ให้สามารถตอบสนองความต้องการเดินทางของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ คุณภาพของตัวรถ ความปลอดภัย ความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และภาครัฐสามารถกำกับดูแลการให้บริการอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

นอกจากนี้ แผนปฏิรูปฯ ดังกล่าวยังกำหนดแนวทางปรับปรุงเส้นทางการเดินรถใหม่ทั้งระบบ กำหนดต้นทางปลายทาง ออกแบบเส้นทางเดินรถซึ่งจะลดการทับซ้อนของเส้นทาง และปรับปรุงเส้นทางให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นๆ เช่น โครงข่ายรถไฟฟ้า ระบบราง การสัญจรทางน้ำ ทางอากาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นต้น ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพการให้บริการที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง