พร้อมแล้วหรือยัง? ไทยเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์" ในอีก 5 ปี

สังคม
29 ก.ย. 59
12:34
2,660
Logo Thai PBS
พร้อมแล้วหรือยัง? ไทยเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์" ในอีก 5 ปี
จากข้อมูลของสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย ประเทศไทยจะกลายเป็น "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์" (Aged Society) ในปี 2564 หรืออีกเพียง 5 ปีนับจากปี 2559 และหลังจากนั้นอีก 10 ปี ประเทศไทยก็จะกลายเป็น "สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด" (Super-aged Society)

ช่วงเวลา 5 ปีนับจากนี้จึงเรียกได้ว่าเป็น "โค้งสุดท้าย" สำหรับการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" สำรวจการเตรียมความพร้อมทั้งในแง่นโยบายของรัฐ ครอบครัว และตัวผู้สูงอายุเอง พบว่ามีความท้าทายรออยู่มากมาย

ข้อมูลจาก สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบันว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ หรือ Ageing Society ซึ่งมีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 15 หรือราว 10 ล้านคน ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แบ่งเป็นผู้สูงวัยอายุ 60-69 ปี ประมาณ 6 ล้านคน อายุ 70-79 ปี 3 ล้านคน และอายุ 80 ปี ขึ้นไป 1 ล้านคน

แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ไทยจะกลายเป็น "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" ซึ่งหมายถึงจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และอีก 14 ปีข้างหน้า หรือในปี 2578 ไทยจะเข้าสู่ สังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือ Super-Aged Society ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ไทยจะมีประชากรสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 30

 

ขณะที่ โครงการวิจัยการประมาณการงบประมาณสำหรับผู้สูงอายุและแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์กรภาคี ประเมินค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุในช่วงปี 2555-2564 ที่รัฐต้องอุดหนุนว่าอาจสูงถึง 1.7-4.6 แสนล้านบาท ถึง 1.8-5.1 แสนล้านบาท ตามรูปแบบสวัสดิการที่บวกเพิ่มเข้าไป

ยังอีกไกลกว่าไทยจะไปถึง "สังคมผู้สูงอายุคุณภาพ"

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชชา ผู้อำนวยการสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย สธ. ให้สัมภาษณ์กับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ถึงสิ่งที่ผู้สูงอายุและสังคมไทยโดยรวมต้องเริ่มตระหนักมากกว่าที่เคย ว่าแม้ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ จะเร่งวางนโยบายและอนุมัติงบประมาณจำนวนมาก เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตามยุทธศาสตร์ของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2545-2564) แต่ก็ยังไม่เพียงพอและทันการณ์ที่จะดูแลผู้สูงอายุที่มีอยู่ 10 ล้านคน ให้มีสุขภาวะอย่างทั่วถึงได้

 

ที่เป็นเช่นนั้น นพ.เอกชัย อธิบายว่า อัตราผู้สูงอายุของไทยเติบโตเร็วกว่าที่คาดการณ์และไม่สมดุลกับอัตราประชากรเกิดใหม่ ที่ปัจจุบันมีจำนวนเพียง 7-8 แสนคนต่อปี จากเดิมอยู่ที่ราว 1 ล้านคนต่อปี และเมื่อประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จะมีมากกว่าอัตราเด็กเกิดใหม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในปี 2573 ไทยจะมีประชากรวัยแรงงานจะเหลือเพียง 2 คน ต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ต่างจากในปี 2533 ที่มีประชากรวัยแรงงานมากถึง 10 คน ต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น โดยอายุขัยเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ 75 ปี และอาจขยับขึ้นเป็น 80 ปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า หากดูแบบผิวเผิน การที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอาจเป็นเรื่องดี แต่หากประชากรผู้สูงอายุไม่ได้เป็น "ผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ" แล้ว ก็อาจเกิดปัญหาได้

"จากการสำรวจในปี 2556 พบว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยร้อยละ 95 มีภาวะป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง จากโรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคเข่าเสื่อม โรคซึมเศร้า ติดบ้าน ติดเตียง ฯลฯ ขณะที่อีกร้อยละ 10-15 มีภาวะติดบ้านหรือต้องพึ่งพิงผู้อื่นบ้าง ส่วนอีกร้อยละ 1 หรือราว 100,000 คน กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องอาศัยการพึ่งพิงจากผู้อื่นอย่างสมบูรณ์ และจากการสุ่มตัวอย่างผู้ที่่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 14,000 คน ใน 28 จังหวัดทั่วประเทศ มีเพียงแค่ร้อยละ 5 เท่านั้นที่ไม่ป่วยเป็นอะไรเลย" นพ.เอกชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว เรื่องของรายได้ในการเลี้ยงชีพหลังจากเกษียณของผู้สูงวัยก็เป็นประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายกังวลเช่นกัน ข้อมูลระบุว่า 1 ใน 3 ของประชากรผู้สูงอายุทั่วประเทศ หรือร้อยละ 33 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นรายได้ความยากจนที่ 2,400 บาท และรายได้ส่วนใหญ่มาจากลูกหลานมากถึงร้อยละ 40 ที่เหลือเป็นเบี้ยคนชราคนละไม่กี่ร้อยบาทต่อเดือนที่ได้รับจากรัฐบาล

 

"เป็นเรื่องที่ต้องเร่งสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่สังคม เพราะทุกวันนี้มีผู้สูงอายุแค่ร้อยละ 60 ที่เตรียมตัวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพใน 3 ด้าน คือ การเงิน สุขภาพ ที่อยู่อาศัย และถ้าไม่มีระบบการจัดการที่ดี รัฐต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมากขึ้นในการดูแล นับว่าเป็นภาระหนักในอนาคต ขณะเดียวกันทั้งตัวผู้สูงอายุเองหรือแม้แต่ครอบครัวก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากค่าดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุโดยประมาณสูงถึงร้อยละ 80 จากค่ารักษาพยาบาลทั้งช่วงชีวิต" นพ.เอกชัย กล่าว

ร่วมกันสร้าง "ผู้สูงอายุพึ่งตนเองได้"

ยุทธศาสตร์ของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2545-2564) ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในประเทศ โดยขยายเกณฑ์อายุเฉลี่ยของ "ผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ" จาก 66 ปี เป็น 72 ปี ซึ่งหมายถึงผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงจนถึงอายุ 72 ปี

เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนี้ สธ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำกิจกรรมและโครงการหลายอย่างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น สนับสนุนการก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็ง 30,000 ชมรม ใน 77 จังหวัด ตลอดระยะเวลา 10 ปี รวมถึง โรงเรียนผู้สูงอายุ และการแจก "สมุดสุขภาพ" 1 ล้านเล่ม ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุไทยใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น การพัฒนาให้ผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอย่างมีคุณภาพ และการสร้างเมืองต้นแบบผู้สูงอายุในเขตพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และ จ.นนทบุรี ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 2 ปี และเตรียมวัดผลสัมฤทธิ์ในปีที่ 3 (2560)

สมุดสุขภาพช่วยลดอัตราเจ็บป่วย-อุบัติเหตุในผู้สูงวัยได้

"อีกข้อกังวลที่ต้องหันมาใส่ใจอย่างจริงจัง คือทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่ร้อยละ 40 มองว่าผู้สูงอายุคือภาระ เราต้องเปลี่ยนทัศนะตรงนี้เพื่อให้เหล่าเยาวชนรู้สึกว่าผู้สูงอายุคือปูชนียบุคคล เป็นมันสมอง เป็นหนึ่งกำลังที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ซึ่งการแก้ไขคือทำให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองได้ โดยครอบครัวและสังคมต้องช่วยกันเตรียมความพร้อม" ผอ.สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย ระบุ

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชชา ผอ.สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย สธ.


นพ.เอกชัย บอกว่า อีกภารกิจหนึ่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือต้องทำให้จำนวนผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงไม่เพิ่มขึ้นเร็วจนเกินไปนัก เพราะทุกวันนี้มีผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้านและติดเตียง และส่วนมากอาศัยอยู่คนเดียวหรือ 2 คน และเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 10 หรือราว 1 ล้านคน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งผลิตและเตรียมความพร้อมในเรื่องบุคลากรสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญ และนักนวัตกรรมเทคโนโลยี ที่ยังขาดอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในประเทศไทยให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและอย่างมีศักดิ์ศรี

สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง