ชีวิตดีๆ หลังวัย 60 ต้องมีเงินเก็บขั้นต่ำ 2 ล้านบาท

สังคม
30 ก.ย. 59
08:07
14,883
Logo Thai PBS
ชีวิตดีๆ หลังวัย 60 ต้องมีเงินเก็บขั้นต่ำ 2 ล้านบาท
ผู้ร่วมรายการเวทีสาธารณะ ตอน "สูงวัยไปด้วยกัน" เรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างระบบการออมเงินที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เผยกระทรวงการคลังประเมินว่าหากอยากมีชีวิตที่เป็นปกติในช่วงอายุ 60-80 ปี ควรมีเงินเก็บ 2 ล้านบาท

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในรายการเวทีสาธารณะตอน "สูงวัยไปด้วยกัน" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสวันนี้ (30 ก.ย.2559) ว่า ระบบการออมเงินเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ

"ทุกคนต้องมีเงินเก็บ ไม่อย่างนั้นหยุดงานไม่ได้ หมายความว่าคุณต้องทำงานไปเรื่อยๆ ไม่มีเวลาหยุด เพราะฉะนั้น เงินเก็บจึงมีความจำเป็น แต่เก็บเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับแผนการวางอนาคตของตนเอง" ดร.ประกาศิตกล่าว

ดร.ประกาศิตอ้างข้อมูลจากกระทรวงการคลังที่ระบุว่า เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติในช่วงอายุระหว่าง 60 – 80 ปี ต้องมีเงินเก็บประมาณ 2 ล้านบาท โดยตัวเลขนี้มาจากการคำนวณเปรียบเทียบกับรายได้จากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน คือ เดือนละ 9,000 บาท ซึ่งหากเริ่มเก็บเงินในช่วงอายุ 40 ปี ไปจนถึงอายุ 60 ปี ก็ต้องเก็บให้ได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท

แต่หากว่าใครสามารถเริ่มเก็บเงินได้เร็วขึ้นก่อนอายุ 40 ปี ก็จะทำให้จำนวนเงินที่ต้องเก็บเมื่ออายุมากขึ้นน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น การสร้างระบบการออมในสังคมที่เอื้อให้ประชาชนมีเงินเก็บจึงเป็นสิ่งจำเป็น

นอกจากการสร้างระบบการออมเงินแล้ว ทุกฝ่ายยังควรให้ความสำคัญกับ "การออมสุขภาพ" หรือการดูแลรักษาสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วยได้ง่าย รวมทั้งการออมด้วยที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์

แต่ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมด้วยระบบการออมแบบใด ดร.ประกาศิตประเมินว่า ภาครัฐซึ่งมีหน้าที่สร้างระบบเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเริ่มสร้างระบบรองรับล่าช้าไปถึง 30 ปี

"ถามว่ารัฐสอบผ่านเรื่องการเตรียมตัวแค่ไหน จากแผนยุทธศาสตร์ชาติผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งเป็นแผน 20 ปี และประเมินกันครั้งละ 5 ปี ซึ่งครั้งล่าสุดเพิ่งประเมินไป ผลออกมาว่าสอบตกครับ รัฐเพิ่งเตรียมความพร้อมไปได้ประมาณร้อยละ 28 ของแผนงานเท่านั้น" ดร.ประกาศิตกล่าว

ในขณะที่ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า ระบบบังคับการออมจะมีผลสำเร็จมากกว่าการออมโดยสมัครใจ เพราะคนมักจะมีเหตุผลต่างๆ นานาที่จะยังไม่ออมเงิน เช่น ยังมีภาระต้องดูแลครอบครัว หรือยังมีหนี้สินอยู่

ดร.วรวรรณกล่าวว่า ภาครัฐเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ช้าเกินไปและน้อยเกินไป ทั้งที่รัฐควรจะเริ่มตั้งแต่ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่กลายเป็นว่ารัฐรอจนประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรแล้ว ถึงจะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการออม

"ถ้ารัฐยังไม่ทำอะไร เราจะเห็นภาพคนแก่ที่มีเงินไม่พอใช้เยอะมากและเป็นปัญหาสังคม" ดร.วรวรรณกล่าว พร้อมกับเตือนประชาชนให้เห็นความสำคัญของการออมเงิน

"ถ้าไม่เตรียมตัวเลย ทำงานได้เงินเดือนก็ใช้หมดไป พอถึงวันที่เป็นผู้สูงอายุ ไม่มีเงินออมที่จะเอาออกมาใช้ ได้เบี้ยยังชีพก็ไม่พอเพราะค่าครองชีพก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นคนแก่ยากจน ในที่สุดก็ต้องทำงานต่อ ทั้งที่อาจจะมีสุขภาพไม่ดีแล้วก็ได้"

รายงานเรื่อง "เศรษฐกิจผู้สูงวัย" ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เปิดเผยข้อมูลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย (Ageing Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขี้นไป เกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมดตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2564 คือจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 5 และในปี 2578 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) โดยประมาณการว่าในขณะนั้นประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาจากอัตราการเกิดลดลงและอัตราการเสียชีวิตลดลงจากพัฒนาการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รายงานฉบับนี้ระบุด้วยว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว หากแต่ถือเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่หลายประเทศได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากร และหากเทียบสัดส่วนผู้สูงอายุกับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ในลำดับ 2 จาก 10 ประเทศอาเซียน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2583 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุสูงที่สุดในอาเซียน

หากประเทศไทยไม่เตรียมตัวรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะส่งผลกระ่ทบหลายอย่าง เช่น แรงงานลดลง รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง สวนทางกับค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ต้องดูแลผู้สูงวัยเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ประชากรวัยทำงานก็ต้องดูแลผู้สูงอายุตามไปด้วย

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิก สปท.เรียกร้องให้สังคมไทยเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้สูงอายุใหม่ โดยไม่มองว่าผู้สูงอายุเป็นปัญหาและเป็นภาระ เพราะปัจจุบันคนมีอายุและมีพลังในการทำงานยืนยาวมากกว่าอดีต

"เราต้องมองคนอายุ 60 เป็นพลัง ยังผลิตได้ ยังทำงานได้ ยังสร้างสังคมได้" นพ.อำพลกล่าว พร้อมกับเสนอแนะว่า แนวทางการเตรียมตัวเพื่อรับมือต่อสังคมผู้สูงอายุต้องเป็นการเตรียมตัวในทุกระดับ"

"เราต้องพูดคุยกันมากขึ้นว่าจะออกแบบสร้างสังคมอย่างไร ท้องถิ่นหรือสถานที่ต่างๆ จะปรับให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยได้อย่างไร การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ต้องคิดอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ถ้าไม่ทำวันนี้จะช้าเกินไป" นพ.อำพลกล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง