สู่วัยชราอย่างสุขใจ-สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ต้องเริ่มตั้งแต่อายุ 45

สังคม
2 ต.ค. 59
14:01
10,889
Logo Thai PBS
สู่วัยชราอย่างสุขใจ-สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ต้องเริ่มตั้งแต่อายุ 45
กรมอนามัยเผย ในจำนวนผู้สูงอายุที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคนในประเทศไทย มีเพียง 6 ล้านคนที่เตรียมความพร้อมสำหรับการเป็น "ผู้สูงวัยคุณภาพ" ส่วนอีก 4 ล้านคนยังน่าห่วง มีปัญหาทั้งด้านสุขภาพและการเงิน แนะการเตรียมตัวเป็นผู้สูงวัยคุณภาพต้องเริ่มตั้งแต่อายุ 45 ปี

"พึ่งตนเองให้นานที่สุด อยู่กับครอบครัวและชุมชนจนบั้นปลายของชีวิต" คือแนวคิดหลักของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นแผนระยะ 20 ปีที่จะสิ้นสุดในปี 2564 หรืออีกไม่ถึง 5 ปี

แต่จากการสำรวจของ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่ามีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมสู่การเป็น "ผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ" ครบทั้ง 3 ด้าน คือ สุขภาพ เงิน และที่อยู่อาศัย เพื่อดำเนินชีวิตในบั้นปลายโดยพึ่งพาตนเองได้ 

ส่วนอีกร้อยละ 40 หรือราว 4 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวหรืออยู่เพียง 2 คน สามี-ภรรยา รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้าน เป็นผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ 2,400 บาท ฯลฯ แทบไม่มีการวางแผนในเรื่องนี้

กรมอนามัยระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศประมาณ 67.9 ล้านคน

นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า แม้มีความพยายามกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทว่า กลไกของรัฐที่มีอยู่ขณะนี้ก็ไม่สามารถดูแลผู้สูงที่มีอยู่ 10 ล้านคน ในประเทศได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ได้เตรียมตัวสู่การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 2 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาทางการเงิน และมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย

"การเตรียมตัวให้ทันต่อการเป็นผู้สูงวัยคุณภาพในช่วงบั้นปลายชีวิตต้องเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป โดยเริ่มจากตัวเองจะเห็นผลดีที่สุด แต่ที่ผ่านมาผู้สูงวัยมักเตรียมตัวช้าและไม่มีความรู้สู่การเป็นผู้สูงวัยคุณภาพอย่างถูกต้อง เช่น เตรียมตัวเพียง 1-2 ปี ก่อนเกษียณอายุ ซึ่งอย่างนี้ไม่ทันแน่นอน" รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุ

สร้าง "สุขภาพดี" วันนี้ ส่งผลดีถึงบั้นปลาย

นพ.ณัฐพร อธิบายว่า การสร้างสุขภาพที่ดีเป็นส่วนสำคัญของการเตรียมตัวสู่การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ การมีสุขภาพที่ดีจะส่งผลดีต่อเราในระยะยาวเพราะจะทำให้ในช่วงสูงอายุจะไม่ต้องเจ็บป่วยมากนัก ซึ่งการสร้างสุขภาพที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ทันทีทันใด แต่ต้องอาศัยการลงทุนดูแลสุขภาพร่างกายนานเป็น 10 ปี ทั้งอาหารการกินที่ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม แต่ควรหันมาทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผักสด และรับโปรตีนรวมถึงกรดโอเมก้า 3 จากปลามากขึ้น ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 10 ป่วยเป็นโรคนี้

สิ่งสำคัญอีกประการคือ การออกกำลังกาย ซึ่งผู้ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะสูงวัยควรเดินให้ได้วันละครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย การเดินเป็นการออกกำลังที่เหมาะแก่ผู้สูงวัย เพราะมีความเสี่ยงน้อยต่อการบาดเจ็บ และจะดียิ่งขึ้นหากเดินออกกำลังกายได้ 5 วันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ในแต่ละวันผู้สูงอายุควรนอนหลับให้ได้ 7-8 ชม. หรือ 5-6 ชม. หากเป็นการหลับสนิท ดังนั้น การฝึกร่างกายให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพไว้แต่เนิ่นๆ จนเป็นนิสัยจึงเป็นเรื่องดีที่ควรทำ

 

"เหตุที่เน้นเรื่องการเตรียมความพร้อมของร่างกาย เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้สูงวัยโดยเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 80 ของค่ารักษาตลอดช่วงชีวิตของคนหนึ่งคน สมมติว่าค่ารักษาพยาบาลตลอดชีวิตคิดเป็นเงิน 2 ล้านบาท จะเป็นการใช้จ่ายช่วงบั้นปลายชีวิตมากถึง 1.6 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลรักษาผู้สูงอายุ หากพักรักษาตัวที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (เนอร์สซิงโฮม) ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มเป็น 2 เท่าของการดูแลรักษาอยู่ที่บ้าน และหากต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าทีเดียว" นพ.ณัฐพร อธิบายเพิ่ม

"เก็บออม-เคลียร์หนี้" เดินทางสู่วัยเกษียณแบบมั่นคง

ในมิติด้านการเงิน นพ.ณัฐพร แนะนำว่า ผู้สูงอายุควรมีเงินเก็บขั้นต่ำ ณ วันที่เกษียณอายุงานประมาณ 6 เท่า ของเงินที่ใช้ในแต่ละเดือน เช่น หากมีรายจ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท วัยทำงานต้องเก็บออมเงินไว้ก่อนเกษียณราว 180,000 บาท แต่จากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุไทยไม่ค่อยมีเงินเก็บ โดยผู้สูงอายุประมาณ 1 ล้านคนในขณะนี้ มีภาวะยากจนและมีหนี้สินมาก คนในวัยทำงานจึงควรจัดการเตรียมความพร้อมใน 3 ด้าน โดยเฉพาะปัจจัยด้านการเงินให้เรียบร้อยก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ

เนื่องจากเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุจะมีรายรับน้อยลง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามไปด้วย ดังนั้น จึงควรวางแผนการใช้หนี้ให้ดี กล่าวคือควรใช้หนี้ที่มีดอกเบี้ยแพงให้หมดก่อน แล้วค่อยทยอยเคลียร์ก้อนหนี้ดอกเบี้ยต่ำ

 

 

"Universal Design" บ้านหลังนี้เพื่อผู้สูงวัย

นอกจากการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็น "ผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ" ด้วยตัวเอง ทั้งเรื่องสุขภาพและการเงินแล้ว การเตรียมปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายด้วย

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2550 สำรวจพบว่า ร้อยละ 10.3 ของผู้สูงวัยเคยหกล้ม และมากกว่าร้อยละ 70 เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น สะดุดสิ่งกีดขวาง ลื่น พื้นต่างระดับ ตกบันได ซึ่งสถานที่ที่ผู้สูงอายุหกล้มมีทั้งภายในบ้าน ร้อยละ 41 และนอกตัวบ้าน ร้อยละ 59

ข้อมูลจากการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประจำปี 2558 ระบุว่า จุดเสี่ยงต่อการหกล้มของผู้สูงอายุมีอยู่ 3 จุด ด้วยกันคือ 1.ห้องน้ำที่มีพื้นเป็นขั้น ลื่นและมืด 2.บันไดที่ไม่มีราวจับและ 3.เตียงนอนที่สูงเกินไป ขาผู้สูงอายุลอยไม่สัมผัสพื้นเมื่อลุกนั่ง รวมถึงการเปลี่ยนท่านอนที่ไม่สมดุล

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เข้าใกล้ภาวะผู้สูงวัยและครอบครัวจึงต้องหันมาใส่ใจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยให้มากขึ้น ซึ่ง นพ.ณัฐพรแนะนำว่า ที่พักอาศัยของผู้สูงวัยควรใช้ หลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือ "Universal Design" ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยและลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย เช่น ควรปลูกสร้างเป็นบ้านนั้นเดียว หรือหากเป็นบ้านสองชั้นขึ้นไป ควรให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ชั้นล่างของตัวบ้าน

"นอกจากการเตรียมความพร้อมทั้ง 3 ด้าน สุขภาพ การเงิน ที่อยู่อาศัย จิตใจของผู้สูงวัยยังเป็นสิ่งละเอียดอ่อน บทบาทสำคัญจึงตกอยู่กับครอบครัวที่ต้องร่วมกันดูแลเอาใจใส่ สร้างคุณค่า คงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้เป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ไม่ไม่ปฏิบัติต่อผู้สูงวัยด้วยคิดว่าเป็นภาระ หากแต่เป็นผู้รู้ ผู้มีความสามารถที่จะเป็นหลักชัยให้ชุมชนและสังคมได้แม้ล่วงเข้าวัยเกษียณ" นพ.ณัฐพร กล่าว

สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง