เอกชนห่วงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับกระทบเอสเอ็มอี

เศรษฐกิจ
4 ต.ค. 59
13:16
403
Logo Thai PBS
เอกชนห่วงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับกระทบเอสเอ็มอี
ส.อ.ท.ห่วงการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ อาจกระทบผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม แต่อาจช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม พร้อมระบุว่าบริษัทเอกชนตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

วันนี้ (4 ต.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. ซึ่งจะบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้าง เพื่อสร้างหลักประกันการออมรองรับวัยเกษียณ เบื้องต้นจะบังคับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 รายขึ้นไป เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยจะให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายสมทบเงินเข้ากองทุนฝ่ายละร้อยละ 3 ใน 3 ปีแรก และจะเพิ่มเป็นฝ่ายละร้อยละ 5 และร้อยละ 7 ในปีถัดไป คาดว่ากฎหมายจะบังคับใช้ในปี 2561

วัลลภ วิตนากร รองประสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า ปัจจุบัน มีสถานประกอบการที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ส่วนใหญ่ เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ พร้อมเป็นห่วงว่า การตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับจะกระทบต้นทุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี แต่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยรักษาแรงงานในองค์กรและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม

ก่อนหน้านี้นายระพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ประชากรวัยทำงานไทยสุ่มเสี่ยงมีเงินออมไม่พอใช้ หลังพบสถิติจำนวนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจ มีเพียงประมาณ 2.5 ล้านคนทั่วประเทศ มีเม็ดเงินประมาณ 9.7 แสนบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบประชากรวัยทำงาน และระบบการทำงานภาคเอกชนไทย

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง วิเคราะห์ว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2549 และในปี 2568 จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์หรือประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.2 ของประชากรทั้งประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง