สัมภาษณ์พิเศษ "โจชัว หว่อง" : นักเคลื่อนไหวฮ่องกงกับอาเซียนต้องสู้ไปด้วยกัน

ต่างประเทศ
5 ต.ค. 59
16:33
831
Logo Thai PBS
สัมภาษณ์พิเศษ "โจชัว หว่อง" : นักเคลื่อนไหวฮ่องกงกับอาเซียนต้องสู้ไปด้วยกัน
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ "โจชัว หว่อง" เลขาธิการพรรคเดโมซิสโตที่เขาและผองเพื่อนตั้งขึ้น ซึ่งโจชัวเปิดเผยว่า ภารกิจหนึ่งของเขาก็คือการทำงานร่วมกับนักเคลื่อนไหวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อร่วมกันสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพและหลักนิติธรรม

ทีมงานรายการ "ทันโลก" สัมภาษณ์พิเศษโจชัวเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2559 หรือประมาณ 3 เดือนหลังจากที่โจชัวและผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ประกาศตั้งพรรคเดโมซิสโตขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2559 โดยมีโจชัวรับหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรค

ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น โจชัวย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย มาเลเซียและสิงคโปร์

การตอบรับคำเชิญจากกลุ่มนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมากล่าวปาฐกถาเรื่องคนรุ่นใหม่กับการเมือง ซึ่งตามกำหนดการเดิมจะจัดขึ้นในวันที่ 6 ต.ค.2559 อาจเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่เขาอยากจะทำงานใกล้ชิดกับนักกิจกรรมในเมืองไทยตามที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ ถ้าเพียงแต่เขาไม่ถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไทยปฏิเสธการเข้าประเทศและส่งตัวเขากลับฮ่องกงในทันทีวันนี้ (5 ต.ค.)

ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ โจชัว หว่อง จากเทปบันทึกรายการทันโลก

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคุณเริ่มขึ้นจากอะไร

ผมก่อตั้งกลุ่ม Scholarism เมื่อปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่เราเคลื่อนไหวคัดค้านการบรรจุหลักสูตรการศึกษาที่บังคับให้เด็กนักเรียนทุกคนซึมซับอุดมการณ์ของพรรคอมมิวนิสต์จีน เราเคลื่อนไหวต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี 2012 และประสบความสำเร็จในการทำให้รัฐบาลยอมถอนหลักสูตรนั้นออกไป หลังจากนั้นมาเราก็มีกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาเรื่อยๆ มีทั้งการเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและการเลือกตั้งผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

ปี 2013-2014 เราจัดกิจกรรมหลายอย่างทั้งอารยะขัดขืน การสไตร์ค การชุมนุม ซึ่งในที่สุดได้ก่อเกิดเป็น "ขบวนการปฏิวัติร่ม" ในปี 2014

วิธีการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ฮ่องกงแสดงออกทางการเมืองแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ อย่างไร

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหม่อย่างพวกเรามองว่าวิธีการที่คนรุ่นก่อนใช้เป็นไปในเชิงตั้งรับมากเกินไปและไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เราจึงเลือกที่จะเคลื่อนไหวโดยใช้การอารยะขัดขืนและเราไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เราปิดถนนนานถึง 79 วัน เพื่อประกาศถึงความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ปรารถนาเสรีภาพและประชาธิปไตย

มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง

สื่อมวลชนกระแสหลักและหนังสือพิมพ์ถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน เราจึงพยายามที่จะหาช่องทางการสื่อสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ล้วนเป็นช่องทางการสื่อสารที่สำคัญที่เราใช้ส่งข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นข้อเรียกร้องและกิจกรรมของเรา ทำให้เราเชื่อมต่อกับประชาชน และช่วยให้เราได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ ทำให้สังคมโลกหันมาสนใจสถานการณ์ของฮ่องกงมากขึ้น

เปรียบเทียบเสรีภาพระหว่างคนบนเกาะฮ่องกงกับในประเทศจีน

ก่อนหน้านี้คนฮ่องกงมีเสรีภาพในระดับหนึ่ง เรามีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล มีหลักนิติธรรม แต่สิ่งเหล่านี้กำลังถดถอยลงทุกขณะจากการเข้ามาควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เห็นได้จากกรณีที่คนขายหนังสือถูกลักพาตัวไปที่ประเทศจีนเพราะขายหนังสือที่มีเนื้่อหาวิพากษณ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์

รัฐบาลจีนสัญญาว่าจะให้คนฮ่องกงมีประชาธิปไตยและใช้หลักการ 1 คน 1 เสียง ภายใต้ระบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ และสัญญาว่าจะให้คนฮ่องกงไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ทำตามสัญญา ทั้งการผิดสัญญาและการปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ทำให้ชาวฮ่องกงไม่ไว้วางใจรัฐบาลจีนอีกต่อไปแล้ว

 

คิดว่าพลเมืองฮ่องกงมีความตื่นตัวทางการเมืองมากแค่ไหน
ก่อนเกิดการปฏิวัติร่มในช่วงปี 2013-2014 คนฮ่องกงไม่ค่อยสนใจเรื่องสิทธิทางการเมืองมากนัก แต่การชุมนุมครั้งนั้นได้ปลุกให้คนฮ่องกงตื่นตัวทางการเมือง ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าขณะนี้คนฮ่องกงที่รักและห่วงใยฮ่องกงนั้นมีเพิ่มมากขึ้น และพวกเขาจะออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงเพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการประชาธิปไตย และนี่เป็นเหตุผลที่ผมกับเพื่อนร่วมกันตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาและส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในเดือนกันยายน 2016

คิดอย่างไรกับการเลือกตั้งผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในปี 2017

ผมไม่มีความคาดหวังอะไรกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าเพราะระบบการเลือกตั้งยังเหมือนเดิม ยังมีเพียงแค่ผู้สมัครที่นิยมรัฐบาลจีนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ลงสมัคร เพราะฉะนั้นไม่มีใครมีความหวังอะไรทั้งนั้นกับการเลือกตั้งที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน และสุดท้ายแล้วคนที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการฯ คนใหม่ก็จะต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจีนอย่างแน่นอน

แม้ว่าการปฏิวัติร่มจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบการเลือกตั้้งผู้ว่าการเขตฯ แต่อย่างน้อยการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นก็ได้สร้างความตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ประชาชน และทำให้ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากคนทั่วโลก และแรงสนับสนุนนี้เองที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงยืนหยัดต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิในการปกครองตนเอง

 

เมื่อพูดถึงการสนับสนุนจากนานาชาติ คุณหมายถึงประเทศไหนโดยเฉพาะหรือเปล่า

จริงๆ แล้วเราอยากเชื่อมต่อกับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งมาเลเซีย ไทยและสิงคโปร์ ผมอยากให้นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในภูมิภาคนี้ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น และสู้เพื่ออนาคตร่วมกัน

มองอนาคตของฮ่องกงอย่างไร

เราจะต้องให้ประชาชนมีสิทธิ์ตัดสินอนาคตของตนเอง แทนที่จะให้ชนชั้นผู้ปกครองหรือคนเพียงกลุ่มเดียวกำหนดอนาคตของฮ่องกง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องดึงอนาคตของฮ่องกงกลับมาอยู่ในมือของเรา เพื่อทำให้ฮ่องกงมีประชาธิปไตย เสรีภาพ เคารพสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม เราจะรักษาไว้ซึ่งหลักการสากลเหล่านี้และทำให้ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีความเป็นสากลในทุกมิติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง