เปิดโผ 10 บริษัทในไทยที่ผู้หางานอยากร่วมทำงานมากที่สุด

เศรษฐกิจ
6 ต.ค. 59
07:18
4,418
Logo Thai PBS
เปิดโผ 10 บริษัทในไทยที่ผู้หางานอยากร่วมทำงานมากที่สุด
เว็บไซต์จัดหางาน jobsDB.com เผยผลสำรวจ 10 บริษัทในประเทศไทยที่ผู้หางานอยากร่วมทำงานด้วย โดยมีบริษัทสัญชาติไทยติดโผ 4 บริษัท แต่ช่องทางที่ทำให้ผู้หางานรู้จักชื่อเสียงขององค์กร คือการพูด ปากต่อปาก

วันนี้ (6 ต.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์จัดหางาน jobsDB.com สำรวจสมาชิกในฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และประเทศไทยถึงบริษัทที่อยากเข้าทำงานมากที่สุด มีผู้ตอบแบบสอบถามรวมกว่า 41,000 คน ซึ่งจากการสำรวจในประเทศไทย พบว่าบริษัท 10 อันดับแรกที่ผู้หางานอยากร่วมทำงานด้วย ได้แก่
1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG
3. โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
4. บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด
5.บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด
6. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส
7. บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด
8. บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด
9. บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค
10.บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด

จากผลสำรวจพบว่ามี 4 บริษัทที่เป็นบริษัทสัญชาติไทย คืออันดับ 1, 2, 6 และ 9 คือ ปตท., ปูนซิเมนต์ไทย, เอไอเอส และดีแทค ส่วนอันดับ 3 คือโตโยต้า แม้เป็นบริษัทข้ามชาติ แต่ลงทุนในไทยมานาน 54 ปี ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผู้หางานรู้จักชื่อเสียงขององค์กรนั้นๆ มากที่สุด คือ Words of mouth หรือการได้ยินคนอื่นพูดต่อๆ กันมา ดังนั้น องค์กรควรสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านทั้งภายในและภายนอกองค์กร แต่หากเป็นความเห็นของนักศึกษาจบใหม่
จะให้น้ำหนักกับความมั่นคงในอาชีพเป็นอันดับแรก รองลงมาคือโอกาสความก้าวหน้า แล้วจึงพิจารณาสิทธิประโยชน์

ส่วนสาขาอาชีพที่มาแรงและหาแรงงานยาก คือดิจิทัล มาร์เกตติ้ง เพราะบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องสื่อสารต่อลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงผู้เขียนบทความผ่านเว็บไซต์ เห็นได้จากความต้องการพนักงานส่วนนี้ 5,000 ตำแหน่ง แต่มีผู้เสนอโพรไฟล์เพียง 700-800 รายเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาชีพเฉพาะทาง เช่น เซลส์ เอ็นจิเนียร์ ที่ต้องจบสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และต้องมีทักษะการขายควบคู่กัน คณิตศาสตร์ประกันภัย รวมถึงวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ขณะเดียวกัน พนักงานที่มีฝีมือมีแนวโน้มลาออกเพื่อทำกิจการส่วนตัวหรือฟรีแลนซ์มากขึ้น เพราะได้ทำเนื้องานที่หลากหลายและร่วมงานได้กับหลายองค์กร โดยจะมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น แม้ว่าค่าตอบแทนจะมากขึ้น หรือน้อยลงเมื่อเทียบจากเดิม สำหรับการหางานผ่านอินเทอร์เน็ตยังเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยม แต่ที่น่าสังเกตคือร้อยละ 63 เปิดจากแอพพลิเคชั่นและโมบายไซต์ในสมาร์ทโฟน ส่วนที่เหลือเป็นการเปิดจากเว็บไซต์ในคอมพิวเตอร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง