เทศกิจคุมเข้มห้ามขายของบริเวณทางเท้าสยามสแควร์

สังคม
7 ต.ค. 59
07:50
684
Logo Thai PBS
เทศกิจคุมเข้มห้ามขายของบริเวณทางเท้าสยามสแควร์
ช่วงค่ำวานนี้ (6 ต.ค.2559) ผู้ค้าย่านสยามสแควร์พยายามเจราจาต่อรองกับทางกรุงเทพมหานครในการขยายเวลาเพื่อระบายสินค้า แต่กรุงเทพมหานครไม่สามารถผ่อนผันได้ ขณะที่เขตปทุมวันจัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจกว่า 200 นาย คุมเข้มพื้นที่ในการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย

เจ้าหน้าที่เทศกิจจากเขตปทุมวันและเขตอื่นๆกว่า 200 นาย กระจายกำลังตามพื้นที่แยกปทุมวัน ถึงแยกเฉลิมเผ่า ถนนพระราม 1 และแยกปทุมวัน ถึงสยามสแควร์ซอย 7 ถนนพญาไท คุมเข้มพื้นที่ไม่ให้กลุ่มผู้ค้าย่านสยามสแควร์เข้ามาตั้งแผงค้าขาย หลักการเจรจาช่วงเช้าในวันที่ 6 ต.ค.2559 ไม่เป็นผลสำเร็จ

กลุ่มผู้ค้าจึงพยายามร่วมกลุ่มและยืนยันจะมาตั้งแผงค้าขายภายในพื้นที่สยามสแควร์ในช่วงค่ำ ทำให้เขตปทุมวันวางกำลังในการดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานเขตปทุมวันเคยมีความพยายามที่จะจัดระเบียบทางเท้าบริเวณสยามสแควร์มาตั้งแต่ปี 2547 แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากถูกกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้ค้า

การเจราจาระหว่างผู้ค้าและกรุงเทพมหานครเมื่อค่ำวานนี้ ท้ายที่สุดแล้วผู้ค้ากว่า 60 คนก็ไม่สามารถวางแผงสินค้าขายของได้ ทำให้กลุ่มผู้ค้าต่างไม่พอใจกับการจัดระเบียบในครั้งนี้ที่มีการแจ้งข่าวสารเพียงไม่กี่วัน ทำให้ไม่สามารถระบายสินค้าได้ทัน

 

ด้านผู้ใช้ทางเท้า ต่างระบุว่าการจัดระเบียบทางเท้าทำให้มีพื้นที่ในการเดินทางกว้างขึ้นและเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้การเดินทางในบริเวณนี้สะดวกมากขึ้น

สำหรับผู้ค้าสยามสแควร์มีจำนวนกว่า 600 ราย ซึ่งค้าขายตั้งแต่ช่วงเวลา 19.00-23.00 น. ที่ผ่านมาจุดนี้ไม่เคยเป็นจุดที่ กทม.อนุญาตให้ค้าขายและได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในการขายของช่วงกลางวัน แต่เมื่อมีการขายของในช่วงกลางคืนก็มีการร้องเรียนมากขึ้นหลายเท่าตัว

ขณะที่นโยบายจัดระเบียบทางเท้าของ กทม.กำหนดให้มีการย้ายแผงค้าที่รุกล้ำทางเดินเท้า 4 จุด ได้แก่ สยามสแควร์, ราชประสงค์, สีลม และประตูน้ำ ออกนอกพื้นที่ภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2559 แม้จะมีการประท้วงของผู้ค้า แต่ กทม.ยืนยันจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายจัดระเบียบทางเท้า หาบเร่-แผงลอย เพราะกฎหมายได้กำหนดให้ทางเท้าเป็นเส้นทางสัญจรของประชาชนและช่องทางจราจรเป็นของประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะ ตามกฎหมายพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ.2522 กทม.จึงไม่มีทางเลือกในการปฏิบัติ เนื่องจากโดนบีบจากสาระของกฎหมาย อีกทั้งโดนบีบจากประชาชนที่เป็นเจ้าของอาคารบ้านเรือนที่ถูกรุกล้ำและเตรียมจะยื่นฟ้อง


ที่ผ่านมา กทม.พยายามยืดหยุ่น ให้เวลาและดูแลจัดสถานที่ขายให้ใหม่รองรับในหลายๆพื้นที่ ประกอบด้วย กลุ่มกรุงเทพกลาง จำนวน 1,254 แผง, กลุ่มกรุงเทพใต้ จำนวน 891 แผง, กลุ่มกรุงเทพเหนือ จำนวน 649 แผง, กลุ่มกรุงเทพตะวันออก 3,775 แผง, กลุ่มกรุงธนเหนือ จำนวน 2,797 แผง และกลุ่มกรุงธนใต้ จำนวน 1,172 แผง รวมแผงค้าทั้งสิ้น 10,538 แผง ซึ่งการปฏิบัติการจัดระเบียบทางเท้านั้น กทม.จะดำเนินการทั้ง 50 เขต

ทั้งนี้ หากผู้ค้ามีความประสงค์จะทำการค้าในพื้นที่ที่ กทม.จัดไว้รองรับ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตพื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง