"ซีที สแกน" กับการสอบสวนคดีฆาตกรรม ตัวช่วยไขปริศนาการเสียชีวิต

อาชญากรรม
9 ต.ค. 59
16:58
1,462
Logo Thai PBS
"ซีที สแกน" กับการสอบสวนคดีฆาตกรรม ตัวช่วยไขปริศนาการเสียชีวิต
ทางการแพทย์ "ซีที สแกน" ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ แต่ในส่วนงานนิติเวชวิทยาที่ต้องสืบหาความจริงจากศพ เครื่องเอกซเรย์ 3 มิตินี้เป็นเทคโนโลยีที่เพิ่งถูกนำมาช่วยเสริมประสิทธิภาพในการชันสูตรให้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลจากศพนิรนาม

ซีที สแกน (Computerized Tomography) หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์นานแล้ว แต่ในส่วนงานนิติเวชวิทยาของไทย เครื่องซีที สแกนเพิ่งถูกนำมาช่วยเสริมประสิทธิภาพในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของสาเหตุการเสียชีวิตและการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของศพนิรนาม

เห็นได้จากคดีอาชญากรรมที่อยู่ในความสนใจของสังคมอยู่ในขณะนี้ ทั้งกรณีการเสียชีวิตของ นายธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา ที่เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำขณะถูกควบคุมตัวที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคดีฆ่าหั่นศพชายชาวต่างชาติและซุกซ่อนชิ้นส่วนไว้ในตู้แช่แข็งที่อาคารพาณิชย์ ย่านสุขุมวิท กทม. ซึ่งกระบวนการชันสูตรศพล้วนใช้วิธี ซีที สแกน เข้าไปเกี่ยวข้อง

พ.ต.อ.ปกรณ์ วะศินรัตน์ นพ.(สบ 4) กลุ่มงานนิติพยาธิ สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถึงวัตถุประสงค์ของการริเริ่มนำเครื่อง ซีที สแกน มาใช้ในงานนิติพยาธิว่า เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการทำงาน โดยสถาบันนิติเวชวิทยาได้ศึกษาการใช้เครื่องซีที สแกน มาช่วยพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งสั่งซื้อมาใช้ภายในประเทศเมื่อต้นปี 2559 และจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2559

พ.ต.อ.ปกรณ์ วะศินรัตน์ นพ.(สบ 4) กลุ่มงานนิติพยาธิ สถาบันนิติเวชวิทยา

พ.ต.อ.ปกรณ์ อธิบายว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนในปัจจุบันซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตที่ถูกส่งมาชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยา ตร. ก็มีมากขึ้น ปัจจุบันมีร่างผู้เสียชีวิตถูกส่งมาชันสูตรประมาณปีละประมาณ 6,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติที่เสียชีวิตในเมืองท่องเที่ยวหลักหลายร้อยคนต่อปี โดยสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นมักเป็นอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ

เครื่องซีที สแกน ช่วยให้ทราบผลการชันสูตรเร็วขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะลดขั้นตอนการนำศพไปต้มหม้อแรงดันเพื่อแยกเนื้อเยื่อและกระดูกออกจากกัน โดยเฉพาะในกรณีศพนิรนามที่สภาพศพเริ่มเสื่อมสลาย ไม่สามารถบ่งบอกเพศ สัญชาติ หรือช่วงอายุของผู้เสียชีวิตได้ ซึ่งที่ผ่านมาต้องใช้เวลาในขั้นตอนดังกล่าวนานเป็นสัปดาห์ จากนั้นต้องนำกระดูกที่ได้มาเรียงต่อกัน เพื่อตรวจสอบทางกายภาพจากสะโพกเชิงกรานว่าเป็นเพศใด รอยต่อของกระโหลกชิดมากน้อยแค่ไหนเพื่อประเมินอายุของผู้ตาย เป็นต้น

"กว่าจะเสร็จกระบวนการชันสูตรทั้งหมดใช้เวลา 1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน แล้วแต่ความซับซ้อนของสาเหตุการเสียชีวิต แต่ถ้าเข้าเครื่องซีที สแกน จะสามารถทราบผลได้ภายในไม่กี่วินาที และหากเป็นการสแกนทั้งร่างใช้เวลาประมาณ 5 นาที ก็สามารถระบุเพศและตั้งข้อสันนิษฐานจากลักษณะทางกายภาพเบื้องต้นได้ว่าศพนั้นเป็นคนเชื้อชาติใด ซึ่งระยะเวลาการชันสูตรที่สั้นลงย่อมส่งผลดีต่อรูปคดีในหลายด้าน ทั้งการติดตามคนร้ายหรือลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมา" พ.ต.อ.ปกรณ์กล่าว

รอยประสานของเปลือกกะโหลกจากซีที สแกน ช่วยระบุอายุของศพได้ 

นอกจากนี้ เครื่องซีที สแกนยังให้ผลการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของอุบัติเหตุและการถูกยิง ที่เนื้อเยื้อ หลอดเลือด และกระดูกของศพอาจได้รับความเสียหายหนักอยู่แล้ว การผ่าพิสูจน์ด้วยมือคนอาจทำให้รอยแผลหรือวิถีกระสุนผิดเพี้ยนไปจากเดิม หรือแม้แต่ในคนที่นำสิ่งเสพติดหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าร่างกาย ผ่านการกลืนลงกระเพาะหรือสวนเข้าทางทวารหนักที่ขดลำไส้อาจบดบัง ซึ่งการเอกซเรย์ 2 มิติไม่สามารถมองเห็นวัตถุได้ แต่หากเข้าเครื่องซีที สแกน จะช่วยลดอุปสรรคในจุดนี้ เพราะภาพเอกซเรย์ 3 มิติ บนจอคอมพิวเตอร์ที่ได้นั้นเสมือนจริง ซึ่งเป็นผลจากการประมวลผลภาพนับ 1,000 รูป จากกล้องของเครื่องซีที สแกน ที่หมุนได้ 360 องศา ทำงานจับภาพระหว่างฉายรังสี

"การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ จะได้ผลดีที่สุดกับผู้ที่เสียชีวิตไม่เกิน 24 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นเนื้อเยื่อจะเริ่มเสื่อมสลาย แต่หากเป็นศพแช่แข็งก็จะพอยืดเวลาออกไปได้ อย่างไรก็ตาม การชันสูตรศพยังคงต้องอาศัยเทคนิคผ่าตัดพิสูจน์เป็นหลัก เพราะต้องพิจารณารายละเอียดของสีและลักษณะเนื้อเยื่ออื่นๆ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่" พ.ต.อ.ปกรณ์ระบุและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนนำศพเข้าเครื่องซีที สแกน เจ้าหน้าที่สถาบันนิติเวชวิทยาจะถ่ายรูปร่างผู้เสียชีวิตอย่างละเอียดทุกซอกมุมเพื่อเก็บเป็นหลักฐานไว้เปรียบเทียบหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ เพื่อความโปร่งใส

ภาพ 3 มิติจากเครื่องซีที สแกน ช่วยให้การวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิตแม่นยำมากขึ้น

ขณะนี้มีเพียงสถาบันนิติเวชวิทยา ตร. และ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมเท่านั้นที่ใช้เครื่องซีที สแกน ในเชิงนิติเวชวิทยาอย่างสมบูรณ์ โดยเครื่องซีที สแกนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี 

แม้ว่าการใช้เครื่องซีที สแกนในการชันสูตรศพจะเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย แต่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีการใช้เทคโนโลยีนี้ในการตรวจเอกลักษณ์บุคคลมาเป็น 10 ปี หลังจากพัฒนาเสร็จสิ้นในปี 2543 พ.ต.อ.ปกรณ์ให้ข้อมูลด้วยว่า บางประเทศ อย่างเช่น สวิตเซอร์แลนด์มีการใช้เครื่องซีที สแกน ตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตของศพทุกศพ เพราะมีผู้เสียชีวิตต่อปีไม่มากนัก

หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียก็นิยมใช้เครื่องซีที สแกน ช่วยในการชันสูตรศพเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย

เครื่องซีที สแกนยังมีประโยชน์มากในกรณีที่หลักศาสนาห้ามผ่าร่างกายผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ก็จะใช้การเอกซเรย์ศพเพื่อตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตแทน ซึ่งช่วยไขความกระจ่างได้มาก

 

 

เครื่องซีที สแกน ที่สถาบันนิติเวชวิทยานำมาใช้ในการชันสูตรศพ

"นอกจากการไขข้อเท็จจริงสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว เครื่องซีที สแกน จะช่วยให้ความเป็นธรรมต่อผู้เสียชีวิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาตามหลักศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้ผ่าศพชาวมุสลิม เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ข้อเท็จจริงในเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตจึงไม่กระจ่างชัด" พ.ต.อ.ปกรณ์ให้ความเห็น

จนถึงขณะนี้เครื่องซีที สแกน ของสถาบันนิติเวชวิทยา ตร. เปิดใช้งานเพื่อไขสาเหตุการเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 20 กรณี มีทั้งคนไทย และชาวต่างชาติที่ญาติแจ้งความประสงค์ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตว่าไม่ต้องการให้มีการผ่าพิสูจน์ศพ ซึ่งทุกคดีได้รับคำตอบที่น่าพอใจ

 ซีที สแกน จะช่วยคืนความเป็นธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ทั้งนี้ สถาบันนิติเวชวิทยาไม่ได้ใช้เครื่องซีที สแกน ตรวจทุกศพที่ถูกส่งมา แต่จะใช้ในคดีที่มีความซับซ้อน หรือหากญาติผู้เสียชีวิตร้องขอตรวจจะมีค่าบำรุงรักษาเครื่องเทียบเท่ากับการรับบริการทางการแพทย์อยู่ที่ 8,000-10,000 บาท ที่เหลือยังคงเป็นการตรวจพิสูจน์ด้วยการเอกซเรย์ 2 มิติ แบบดิจิทัลที่ให้ประสิทธิผลการตรวจในระดับคุณภาพ

ในอนาคต สถานบันนิติเวชวิทยา ตร. ยังมีความสนใจศึกษาในเรื่องการฉีดสารทึบแสง ซึ่งเป็นสารที่ปรับส่วนผสมให้เหมาะกับสภาพศพ ที่ใช้ควบคู่กับการทำซีที สแกน เพื่อวินิจฉัยการทำงานของเส้นเลือด หลอดเลือด ว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตด้วยหรือไม่


สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง