นักวิชาการชี้กระเบนราหูแม่กลอง โดนสารพิษตายแบบเฉียบพลัน คาดอาจตายถึง 100 ตัว

Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้กระเบนราหูแม่กลอง โดนสารพิษตายแบบเฉียบพลัน คาดอาจตายถึง 100 ตัว
ผู้เชี่ยวชาญกระเบนน้ำจืด ระบุซากกระเบนราหูตาย เกิดจากสารพิษชนิดรุนแรง เมื่อได้รับสารจะตายแบบเฉียบพลัน เตรียมเสนอการแก้ปัญหาเป็นแบบวาระแห่งชาติ ขณะที่วันนี้ชาวบ้านพบซากเพิ่มเป็นตัวที่ 27 รวมยอดตายทั้งสิ้น 38 ตัว

วันนี้ (9 ต.ค.2559) สถานการณ์ปลากระเบนราหูตายในแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ยังคงพบซากปลากระเบนราหูอย่างต่อเนื่อง วันนี้ ชาวบ้านพบซากปลากระเบนราหู ขนาด 1.50 เมตร น้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม สภาพเริ่มเน่าและส่งกลิ่นเหม็นที่บริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง หน้าวัดแม่น้ำ ต. ท้ายหาด อ. เมือง จ.สมุทรสงคราม ก่อนที่จะเก็บกู้ซากขึ้นมาฝังกลบ โดยกระเบนตัวที่ถูกค้นพบนี้เป็นตัวที่ 27 ประมง จ.สมุทรสงคราม ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า ทยอยพบกระเบนราหูลอยขึ้นเหนือน้ำเป็นจำนวนมาก รวมยอดทั้งสิ้น 38 ตัว ส่วนปลากระเบนราหูที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ถูกนำมาพักฟื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงและอยู่ในสภาพเกือบจะปกติแล้ว

รศ.สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญปลาน้ำจืด กล่าวถึงผลการตรวจซากกระเบนราหูจำนวน 3 ตัว พบผลตรงกันคือ ได้รับสารพิษชนิดเดียวกันที่ส่งผลให้ปลาตายในทันที หรือภาษาทางวิชาการคือตายแบบเฉียบพลัน โดยสารพิษดังกล่าวทำลายระบบไต หัวใจ และประสาท ส่วนจะมาจากที่ใดเป็นเรื่องที่กรมควบคุมมลพิษ และประมง จ.สมุทรสงคราม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการงานร่วมกัน เนื่องจากขณะนี้พบยอดกระเบนตายไม่ต่ำกว่า 50 ตัว ซึ่งตามหลักธรรมชาติจะมีมากกว่านั้น เนื่องจากกระเบนตายส่วนหนึ่งจะลอยอืด ขณะที่อีกส่วนจะจมลงใต้น้ำซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ ประเมินว่าอาจจะตายถึง 100 ตัว

พรุ่งนี้ (10 ต.ค.) รศ.สัตวแพทย์หญิง นันทริกา และคณะ จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมปัญหาปลาในกระชังของชาวบ้าน ที่ล่าสุดพบว่าตายยกกระชัง จำนวนหลาย 10 แห่ง ในระยะเวลาเดียวกันกับที่กระเบนราหูตาย ทำให้ รศ.สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ตั้งข้อสังเกตว่าจะได้รับสารพิษชนิดเดียวกัน เพราะแม้ปลาในกระชังจะแข็งแรง แต่หากถูกขังไม่สามารถว่ายหนีได้ก็จะตายได้เช่นกัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้สะท้อนได้ว่า แม่น้ำแม่กลองมีปัญหาเพราะสัตว์ที่ไวต่อสารเคมีอย่างกระเบนราหู และสัตว์น้ำทั่วไปตายในห้วงระยะเวลาเดียวกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องเป็นวาระแห่งชาติ เพราะแม่น้ำแม่กลองกินพื้นที่หลายจังหวัด การบูรณาการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงการตายของสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์สงวนจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง