พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

สังคม
13 ต.ค. 59
19:00
22,946
Logo Thai PBS
พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2470 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2489 และทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ทรงพระราชสมภพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธ.ค.2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีพระนามเดิมว่า "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา โดยมีพระภิคินี (พี่สาว) คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระเชษฐา (พี่ชาย) คือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

เมื่อ พ.ศ.2471 ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐฯ กลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ 24 ก.ย.2472 สมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคต

เมื่อเจริญพระชนมพรรษาได้ 5 พรรษา ได้เสด็จเข้ารับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ เป็นเวลา 1 ปี ขณะนั้นประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช

ในวัยเยาว์แห่งพระชนมวาร ณ เมืองโลซานน์ พระองค์ทรงได้รับการอภิบาลและอบรมจากสมเด็จพระบรมราชชนนี เฉกเช่นกุลบุตรของชนทั่วไป

พระองค์ได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จากโรงเรียนยิมนาส คลาสสิค กังโตนาล ต่อมาทรงเข้าศึกษาต่อในแผนกวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์
พ.ศ.2477 พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช" เมื่อ พ.ศ.2478 และได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยใน พ.ศ.2481 แล้วเสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนถึง พ.ศ.2488 จึงโดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทย

ทรงครองราชย์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง วันที่ 9 มิ.ย.2489 ขณะที่พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พระชนมพรรษา 18 พรรษา

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กราบบังคมทูลเชิญขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ในวันเดียวกัน ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" พร้อมแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ บริหารราชกาลแผ่นดินแทนพระองค์ เนื่องจากยังทรงพระเยาว์และต้องทรงศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ

วันที่ 19 ส.ค.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

พ.ศ.2493 เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2493

วันที่ 5 พ.ค.2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร" พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

ทรงอภิเษกสมรส

พ.ศ.2491 ระหว่างทรงศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงไปร่วมงานที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ได้ทรงพบและมีพระราชหฤทัยสนิทเสน่หาใน ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร ในปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรง ทรงบาดเจ็บที่พระพักตร์ พระเนตรขวา และพระเศียร ทรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมอร์เซส์

ต่อมาทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ 19 ก.ค.2492 ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ในวันที่ 28 เม.ย.2493 และพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพที่สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2494 ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ 7 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นทรงย้ายที่ประทับไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีก 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2495 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2498 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2500

ทรงผนวช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2499 ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า "ภูมิพโลภิกขุ" จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดเวลา 15 วันที่ทรงผนวชอยู่ ต่อมาจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ใน พ.ศ.2500

พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์นานที่สุดในโลก

วันที่ 9 มิ.ย.2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในโลก

 

ที่มา: เว็บไซต์เครือข่ายกาญจจนาภิเษก www.kanchanapisek.or.th และหนังสือ "เพียงพ่อก็พอเพียง The Soul of Siam" จัดทำโดยมูลนิธศิริวัฒนา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง