เรื่องเล่าจากอดีตเด็กเลี้ยงช้างถึงพระราชกระแสรับสั่ง "พระเศวต แล้วเจอกันนะ"

สังคม
17 ต.ค. 59
15:57
17,065
Logo Thai PBS
เรื่องเล่าจากอดีตเด็กเลี้ยงช้างถึงพระราชกระแสรับสั่ง "พระเศวต แล้วเจอกันนะ"
อดีตเด็กชายดูแลช้างคู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บอกเล่าถึงพระราชกระแสรับสั่งของพระองค์ต่อ "พระเศวตสุรคชาธาร" ช้างคู่พระบารมี

รูปปั้นพระเศวตสุรคชาธาร หรือ ช้างคู่พระบารมีประจำรัชกาลที่ 9 ยังคงเป็นอนุสาวรีย์ประจำ ณ.สนามพิธีช้างเผือก อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งเคยถูกใช้เป็นสถานที่จัดพระราชพิธีสมโภช ขึ้นเป็นช้างคู่พระบารมี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ยังคงอยู่ในความทรงจำของนายธนิต คุมภะสาโน ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงเด็กชายวัยเพียง 10 ขวบที่ปรากฏในภาพถ่ายคู่กับช้างคู่พระบารมี

นายธนิต ซึ่งปัจจุบันเป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.ยะลา เล่าว่า ช้างคู่พระบารมีถูกนำมาจาก อ.รามัน จ.ยะลา หลังจากชาวบ้านพบว่า เป็นช้างที่มีลักษณะพิเศษ ขนสีขาว ฝ่าเท้าสีชมพู ซึ่งแตกต่างจากช้างอื่นๆ ที่ทั่วไปจะมีสีดำ จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และเพราะวัยของช้างและตัวเองใกล้เคียงกันจึงสนิทสนมและกลายเป็นเพื่อนกัน ต่อมา ทางราชการได้พิสูจน์ทางคชลักษณ์และพบว่าเป็นช้างเผือกในตระกูลพรหมณ์พงค์ หรือ ดามมหัตถี จึงสมควรน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นช้างสำคัญคู่พระบารมี และจัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นตามโบราณราชประเพณีในวันที่ 9-11 มี.ค. 2521

หลังจากนั้นพระเศวตสุรคชาธาร ก็ถูกส่งตัวมายังพระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเด็กชายธนิตได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เลี้ยงในช่วงประมาณ 1 เดือนแรก ซึ่งทุกวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพระเศวตสุรคชาธารและทรงตรัสถามถึงความเป็นอยู่

 

"พระองค์ท่านมีความเมตตาสูงมาก ผมก็เป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง แต่พอได้ยินพระองค์ท่านตรัสว่า 'พระเศวต แล้วเจอกันนะ' ผมมีความรู้สึกตื้นตันอย่างบอกไม่ถูก ถ้อยคำไม่กี่พยางค์ที่ท่านตร้ส ทำให้เราถวายตัวด้วยหัวใจเลย" นายธนิตกล่าวทั้งน้ำตาที่ไหลออกมาด้วยความตื้นตัน

นายธนิตเล่าว่า เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลพระเศวตสุรคชาชารที่วังไกลกังวลเพื่อให้ช้างปรับตัวได้ในช่วงแรก ทุกเช้าพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพระเศวตและทรงตรัสถามความเป็นอยู่ พระเศวตจะตอบรับด้วยการ ทำท่า "จบ" ซึ่งเป็นท่าแสดงความเคารพของช้าง หากพระเศวตดื้อเกเร นายธนิตจะหยิกที่หู พระองค์ท่านก็จะแย้มพระสรวลและทรงตรัสว่า "ไม่เป็นไรหรอก ปล่อยเค้าเถอะ"

"เด็กจังหวัดยะลาคนหนึ่งได้มีโอกาสถวายรายงานเกี่ยวกับอาการของพระเศวตฯ ซึ่งเป็นช้างคู่พระบารมี ได้กราบพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คิดว่าชาตินี้คงไม่ต้องการอะไรแล้ว และต้องเป็นคนที่ยึดคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเราจะต้องเป็นคนดีของสังคม" นายธนิตกล่าว 

           นายธนิต คุมภะสาโร คือเด็กชายที่อยู่ด้านซ้ายมือในภาพถ่าย 

ข้อมูลจากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 17 ให้ข้อมูลว่า พระเศวตสุรคชาธารฯ เป็นช้างพลายเผือก ลูกเถื่อน นายเจ๊ะเฮง หะระดี กำนันตำบลการอ อ.รามัน จ.ยะลา ได้ลูกช้างพลัดแม่ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2511 เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์จำพวกช้าง 10 หมู่ ชื่อ ดามพหัตถี สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2511

 

ความเชื่อของไทยโบราณ หากกษัตริย์พระองค์ใดมีช้างเผือกคู่พระบารมีตามหลักคชลักษณ์มากก็จะมีบุญญาบารมีมาก ซึ่งรัชกาลที่ 9 มีช้างเผือกคู่พระบารมีถึง 21 ช้าง


แม้ปัจจุบันพระเศวตสุรคชาธารจะล้มแล้ว แต่ความทรงจำของคนในจังหวัดยะลาซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของช้างคู่พระบารมี ก็ทำให้คนในหลายพื้นที่ภูมิใจอย่างยิ่ง เห็นได้จากภาพจิตรกรรมที่สะท้อนเรื่องราวในพระราชพิธีสมโภชพระเศวตสุรคชาธารถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินชั้นครู อย่างรองศาสตราจารย์นิคอเละ ระเด่นอาหมัด

ครูนิคอเละบอกว่า ความยากในการถ่ายทอดผลงานชิ้นนี้ คือ จะต้องทำงานวิจัยเรื่องราวในพระราชพิธีทั้งหมด ทั้งข้อมูลเชิงเนื้อหาประวัติศาสตร์ และข้อมูลจากภาพถ่ายก่อนจะนำมาเรียงร้อยต่อกัน และลงมือวาดด้วยวิธีการจัดองค์ประกอบของภาพให้อ้างอิงตามหลักวิชาการทางศิลปะ เพื่อให้ได้ผลงานจิตรกรรมที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้งดงามมากที่สุด

"ภาคภูมิใจที่ได้ทำงานนี้ จะเรียกว่าเป็นการถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างหนึ่งก็เป็นได้ เพราะเราเขียนรูปนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของในหลวงของเราและประวัติศาสตร์ของ จ.ยะลา ด้วย" ครูนิคอเละกล่าว

ครูนิคอเละกล่าวว่า ผลงานจิตรกรรมครั้งนั้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการวาดภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชอีกหลายภาพ และยังเป็นต้นแบบของการถ่ายทอดภาพวาดสมัยใหม่ที่ไม่ยึดกับการวาดภาพเหมือนแต่จะวาดจากความรู้สึก อีกทั้งทุกปี ผลงานภาพวาดจากฝีพระหัตถ์ก็จะถูกนำมาแสดงในงานศิลปกรรมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2502 ถึงปี 2510 สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอัครศิลปิน และพระปรีชาสามารถด้านศิลปะของพระองค์อย่างแท้จริง 

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง