ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: หยุดความร้าวรานในสังคมด้วยการ "เคารพอารมณ์ของคนอื่น"

สังคม
21 ต.ค. 59
12:00
8,148
Logo Thai PBS
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: หยุดความร้าวรานในสังคมด้วยการ "เคารพอารมณ์ของคนอื่น"
การใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายหมิ่นสถาบันในช่วงที่คนไทยกำลังอยู่ในความทุกข์โศกทำให้หลายคนเกิดความกังวล ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถึงหนทางที่จะไม่ให้ความรุนแรงบานปลาย

ในความโศกเศร้าต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย หลายคนแปรความเศร้าเป็นพลังเชิงบวกด้วยการทำกิจกรรมจิตอาสา เช่น แจกอาหาร น้ำดื่ม ทำโบว์สีดำติดเสื้อ

แต่สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ความสูญเสียในครั้งนี้ ทำให้พวกเขาเกิดความไม่พอใจต่อพฤติกรรมของบุคคลอื่นที่ถูกมองว่าไม่เป็นการแสดงความอาลัยหรือเป็นพฤติกรรมหมิ่นสถาบันเบื้องสูง เกิดเป็นกระแสการแชร์ภาพและคลิปปลุกความเกลียดชัง หรือที่เรียกว่าการ "ล่าแม่มด" รวมไปถึงความรุนแรงในหลายพื้นที่ เช่น ที่ จ.ภูเก็ต พังงา ชลบุรี หรือกระทั่งคลิปทำร้ายร่างกายหญิงสูงวัยที่ปรากฏข้อเท็จจริงภายหลังว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช

ไทยพีบีเอสออนไลน์ คุยกับ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าสังคมจะยุติความรุนแรงและความเกลียดชังนี้ได้อย่างไร และเราควรจะอยู่กันอย่างไรในภาวะที่เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่นี้

ศ.ชัยวัฒน์อธิบายว่า สังคมของเรามีคนเป็นสิบๆ ล้านคนที่ไม่ใช่เพียงมีความคิดที่หลากหลาย แต่ยังมีสภาพจิตใจที่หลากหลายด้วย เมื่อมีผู้ที่แสดงพฤติกรรมเป็นอย่างอื่น (ไม่ใช่เห็นเป็นอย่างอื่น) ไม่ว่าด้วยสภาพทางจิตหรืออะไรก็แล้วแต่ ได้ทำให้คนจำนวนหนึ่งเกิดความโกรธและมีปฏิกิริยาตามที่เราเห็นเป็นข่าว บางกรณีเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยทันที เช่น เห็นคนไม่แต่งกายไว้ทุกข์ก็โกรธ แต่บางกรณีเป็นผลจากการรับสื่อบางส่วนที่ตอกย้ำความเกลียดชังที่มีอยู่ในสังคมมาก่อนหน้านี้

ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทุกครั้งไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดในโลก เมื่อเปลี่ยนแปลงจะมีสิ่งที่เรียกว่า "ความกระวนกระวาย" สูง แต่ความกระวนกระวายอันเป็นผลมาจากการสูญสิ้นศูนย์กลางของสังคมไปครั้งนี้มีมหาศาล ยิ่งในท่ามกลางความไม่แน่นอนหลายอย่าง เช่น สถานการณ์โลกหรือสังคมไทยเอง อาจส่งให้เกิดความรู้สึกที่เข้มข้นรุนแรงได้หลายแบบ ทั้งโกรธเกรี้ยว เศร้าซึม หรือกระทั่งนำไปสู่พฤติกรรมที่นำไปสู่ความเกลียดชัง 

เคารพอารมณ์ของคนอื่น-ทำสิ่งเป็นกุศลถวายในหลวง

เมื่อถามถึงแนวทางการเดินหน้าต่อไปในการอยู่ร่วมกัน เพื่อยุติความเกลียดชัง ศ.ชัยวัฒน์ ยกหลักที่ใช้มาอย่างสม่ำเสมอ นั่นคือ การเคารพความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด 

"การปฏิบัติตัวในสถานการณ์ที่อารมณ์ของความกระวนกระวายสามารถกลายเป็นอะไรได้เยอะแยะขณะนี้ ควรพยายามให้ความสำคัญกับความสามารถของเราเองที่จะเคารพอารมณ์ของคนอื่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกับเรา" ศ.ชัยวัฒน์ กล่าว  

ศ.ชัยวัฒน์ ยังชวนคิดอีกว่า หากเรารักพระเจ้าอยู่หัว แล้วพระเจ้าอยู่หัวไม่อยู่แล้ว เวลาที่เราจะทำอะไร การกระทำของเรามีส่วนสร้างบุญกุศลถวายพระองค์ท่านมากน้อยแค่ไหน การกระทำสร้างบุญกุศลคงไม่ได้เป็นในทางกล่าวร้ายเกลียดชัง รังแกผู้คน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ การกระทำเหล่านั้นในที่สุดแล้วไม่นำไปสู่การสร้างบุญกุศล สิ่งนี้เป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรม คือการปราศจากวิหิงสาทั้งมวล การเบียดเบียนต่างๆ

"สิ่งที่ตัวเองจะทำต่อเพื่อนร่วมสังคมเป็นสิ่งที่สร้างบุญสร้างกุศลแด่พระมหากษัตริย์ที่เราบูชาหรือไม่ ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นเกณฑ์ ควบคู่กับการเคารพความรู้สึกของผู้อื่น ผมก็คิดว่าจะทำให้สังคมเราแข็งแรงขึ้น ไม่ร้าวรานอย่างที่มันเป็นอยู่"

ต่อกรณีที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออกมาสนับสนุนให้ใช้ "มาตรการทางสังคม" ต่อผู้มีพฤติกรรมหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ศ.ชัยวัฒน์ ชี้ว่า การกล่าวเช่นนี้เป็นอันตรายที่ควรระวัง เพราะการปล่อยให้คนหมู่มากจัดการไม่ใช่แนวทางที่รัฐจะรักษาความมั่นคงในห้วงเวลานี้ รัฐต้องมีหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชน

"สภาวะความมั่นคงที่ผมหมายถึงไม่ใช่ความมั่นคงทางการทหาร แต่เป็นความมั่นคงทางสังคม เป็นความมั่นคงระหว่างสายสัมพันธ์ของผู้คนทางอารมณ์ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องดูแล ...สิ่งเลวร้ายที่สุดสำหรับรัฐที่จะเกิดขึ้นได้ คือความแตกแยกของผู้คนในรัฐด้วยกัน" ศ.ชัยวัฒน์ กล่าว 

นายกฯ ปรามกระแสล่าแม่มด

เสียงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ที่ออกมาปรามการล่าแม่มดหรือการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น สะท้อนถึงความกังวลใจของรัฐบาลและ คสช.ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในการแถลงข่าวหลังการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18 ต.ค.แสดงความไม่เห็นด้วยกับพฤติการณ์ไล่ล่าผู้ที่ไม่ได้แสดงสัญลักษณ์ไว้ทุกข์ โดยระบุว่าทุกคนต้องเข้าใจซึ่งกันและกันว่าแต่ละคนมีข้อจำกัดและหน้าที่แตกต่างกัน จึงไม่ควรตัดสินว่าคนที่ไม่ได้ใส่ชุดดำคือผู้ที่ไม่จงรักภักดี

เมื่อวานนี้ (20 ต.ค.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ย้ำอีกครั้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ "รู้สึกไม่สบายใจ" ต่อการที่มีผู้ใช้กำลังรุมทำร้ายผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

โฆษกรัฐบาลระบุว่า นายกฯ เข้าใจดีถึงความรู้สึกของประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน แต่ขอให้ระลึกเสมอว่าต้องไม่ดึงสถาบันลงมาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ทั้งนี้บ้านเมืองมีกฎหมาย ขอให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้ามาดำเนินการเหมาะสมที่สุด

"อยากเตือนว่าใครที่คิดแตกต่างจากคนอื่นอยู่ในใจของท่านไม่เป็นไร แต่ท่านอย่าแสดงออกมา นอกจากทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ส่วนใครที่พบเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายเหล่านั้น ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับความมั่นคง ให้ดำเนินการตามกฎหมายจะทำให้ดูเป็นประเทศที่มีอารยะ และขอความกรุณาประชาชนที่พบเห็นภาพเหล่านี้ อย่าได้ส่งต่อ" พล.ท.สรรเสริญ ระบุ

ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง