อดีตเพลงชาติคงไว้ซึ่งความเคารพองค์ราชัน "สรรเสริญพระบารมี” เสียงดนตรีที่ดังไปก้องโลก

สังคม
22 ต.ค. 59
20:08
15,828
Logo Thai PBS
อดีตเพลงชาติคงไว้ซึ่งความเคารพองค์ราชัน "สรรเสริญพระบารมี” เสียงดนตรีที่ดังไปก้องโลก
ชวนรู้จักประวัติและความหมายของเพลง "สรรเสริญพระบารมี" ซึ่งเคยเป็นเพลงชาติของไทย แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้ใช้ในฐานะเพลงชาติอีกต่อไป แต่ยังคงใช้ในฐานะของเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์

วันนี้ (22 ต.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล องค์ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ มีความคิดริเริ่มจัดสร้างภาพยนตร์เพลง "สรรเสริญพระบารมี" ขึ้นใหม่ ณ ท้องสนามหลวง เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และบันทึกถึงความรัก ความเทิดทูนที่ประชาชนคนไทยมีต่อพระองค์ท่าน

ประชาชนกว่า 1.7 แสนคนเดินทางจากทั่วทุกสารทิศมาร่วมขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีครั้งประวัติศาสตร์ โดย ม.จ.ชาตรีเฉลิมมีแผนจะเผยแพร่ภาพยนตร์เพลงสรรเสริญพระบารมีเวอร์ชั่นปี 2559 นี้ในโรงภาพยนตร์ภายในสัปดาห์หน้า

ประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมี

เพลงสรรเสริญพระบารมีถูกบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกบนแผ่นเสียงสยามปาเต๊ะ ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวงประมาณ ปี 2450 ขับร้องโดย นางแป้น วัชโรบล (ปี 2423-2465) ลักษณะการร้องเป็นการร้องส่งแตรวงทหารราบที่ 3 ซึ่งปัจจุบันคือกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยต้นฉบับเผยแพร่อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย

เชื่อกันว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีมีเค้าโครงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะพบเพลงที่มีลักษณะคล้ายเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่ก่อนแล้ว ใช้บรรเลงเวลาพระมหากษัตริย์เสด็จลงท้องพระโรงและเสด็จขึ้น มีชื่อเรียกว่า "สรรเสริญนารายณ์" แต่ในบ้างแหล่งระบุชื่อเพลงว่า "เสด็จออกขุนนาง"

แต่เพลงสรรเสริญพระบารมีในฐานะเพลงชาตินั้น เริ่มปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยใช้เพลง "God Save the King" ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี และใช้เพลงชาติของอังกฤษบรรเลงเป็นเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ ตามแบบอย่างการฝึกทหารของอังกฤษ ต่อมาพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ใช้ทำนองเพลงนี้แต่งคำร้องสรรเสริญพระบารมีถวายโดยให้ชื่อว่า "จอมราชจงเจริญ"

จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และเกาะชวาในปี 2414 ขณะที่ทรงประทับอยู่ที่สิงคโปร์นั้น ทหารอังกฤษได้ใช้เพลง "God Save the King" บรรเลงเป็นเพลงเกียรติยศรับเสด็จ ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าทั้งอังกฤษและไทยต่างใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเพลงเดียวกัน

ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองปัตตาเวีย ชาวฮอลันดาที่ตั้งอาณานิคมอยู่ในพื้นที่ได้ถามถึงเพลงประจำชาติของไทย เพื่อจะได้นำไปบรรเลงรับเสด็จ พระองค์จึงมีพระราชดำริแก่ครูดนตรีไทยให้แต่งเพลงแตรวงรับเสด็จเพื่อใช้แทนเพลง God Save the King

กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงบันทึกถึงเรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมีไว้ใน สาส์นสมเด็จ ว่า "หลังจากที่มีความกระตือรือร้นหาเพลงคำนับประจำชาติไทยแล้วนั้น โปรดให้เรียกผู้ชำนาญเพลงดนตรีไทยมาปรึกษาหาเพลงไทยที่ควรเอามาใช้เป็นเพลงคำนับเหมือนอย่างเพลงก็อดเสฟธีควีนของอังกฤษ"

"พวกครูดนตรีที่ปรึกษาครั้งนั้นจะเป็นใครบ้างไม่ทราบได้ แต่นึกว่าคนสำคัญ 3 คนนี้ คงอยู่ในนั้นด้วย คือ คุณมรกต ครูมโหรีหลวงคน 1 พระประดิษฐไพเราะ (มีแขก) คน 1 กับพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) คน 1 เวลานั้นยังมีชีวิตอยู่ทั้ง 3 คน พวกครูดนตรีทูลเสนอเพลงสรรเสริญพระบารมี"

"จึงโปรดให้มิสเตอร์เฮวุดเซน (เรียกกันว่าครูยูเซน) ซึ่งเป็นครูแตรทหารมหาดเล็กอยู่ในเวลานั้น เอาเพลงสรรเสริญพระบารมีไปแต่งแปลงกระบวนสำหรับใช้แตรวงเป่าเป็นเพลงคำนับ เป่าแต่ท่อนเดียวเช่นรับเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ ก็ได้ หรือเปล่าตลอดทั้ง 2 ท่อน เช่น รับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ เอาอย่างมาแต่เพลงก็อดเสฟธีควีน"

ในช่วงเวลานั้น คณะครูดนตรีไทยจึงได้เสนอเพลง "บุหลันลอยเลื่อน" (หรือเพลงทรงพระสุบิน) ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเฮวุดเซน ครูดนตรีในกรมทหารมหาดเล็กชาวฮอลันดา เรียบเรียงทำนองขึ้นใหม่ให้เป็นทางดนตรีตะวันตก และได้ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีตั้งแต่ปี 2414

ขณะที่อาจารย์สุกรี เจริญสุข สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพลงเดียวกันกับเพลงสรรเสริญเสือป่า ซึ่งใช้เป็นเพลงเกียรติยศของเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีที่มาหลายแนวทางด้วยกัน เช่น ปโยตร์ ชูรอฟสกี นักประพันธ์ชาวรัสเซีย ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี 2431 และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนิพนธ์เนื้อร้องประกอบ ซึ่งได้ออกบรรเลงครั้งแรกที่ศาลายุทธนาธิการในปีเดียวกั

ทำนองเพลงใช้ของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางคกูร หรือ ครูมีแขก) ครูดนตรีคนสำคัญ ที่ได้ประดิษฐ์ทำนองขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อราว ปี 2416 ภายหลังจากพระราชพิธีบรมราชภิเษกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน ซึ่งได้เค้าทำนองมาจากเพลงสรรเสริญนารายณ์ของเก่า และได้เรียบเรียบเสียงประสานสำหรับดนตรีตะวันตกโดย ปโยตร์ ชูรอฟสกี้ ซึ่งเพลงนี้บรรเลงครั้งแรกที่ศาลายุทธนาธิการในปีเดียวกัน ต่อมาทรงนิพนธ์เนื้อร้องของเพลงนี้อีกหลายเนื้อร้องเพื่อขับร้องในกลุ่มต่าง ๆ กัน เช่น ทหาร นักเรียนชาย นักเรียนหญิง เป็นต้น

แต่มีเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกสำนวนหนึ่ง คาดว่าเป็นพระนิพนธ์ใน พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สำนวนนี้เป็นสำนวนสำหรับทหารเรือขับร้องโดยเฉพาะ ความว่า

ข้าพระนฤปจง ทรงศิริวัฒนา
จงพระพุทธศา สนะฐีติยง
ราชรัฐจงจิรัง ทั้งบรมวงศ์
ทีรมะดำรง ทรงกรุณาประชาบาล
ราชธรรม ธ รักษา เป็นทิตานุทิตะสาร
ขอบันดาล ธ. ประสงค์ใด
จงสิทธิ์ดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ฉนี้

ส่วนเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบันนั้น เดิมทีเป็นเนื้อร้องที่พระองค์ได้นิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเพลงสรรเสริญพระบารมีมาพระราชนิพนธ์คำร้องขึ้นใหม่ โดยทรงรักษาคำร้องเดิมเอาไว้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นแต่ทรงเปลี่ยนคำร้องในท่อนสุดท้ายว่า ฉะนี้ ให้เป็น ชโย และประกาศใช้ ในวันที่ 1 มี.ค.2456 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิรกราน
นบพระภูมิบาล บุญญดิเรก
เอกบรมจักริน พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสฤษฎ์ดัง
หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้ใช้ในฐานะเพลงชาติอีกต่อไป แต่ยังคงใช้ในฐานะของเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งมีการตัดทอนเพลงนี้ให้สั้นลง แต่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว

อีกด้านหนึ่ง ในเรื่องการบันทึกเสียง "เพลงสรรเสริญพระบารมี" ครั้งแรกในโลกเกิดขึ้น ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี 2443 เป็นการบันทึกลงบนบนกระบอกเสียงของเอดิสันชนิดไขขี้ผึ้งเปล่า โดยมีคณะนายบุศย์มหินทร์ หรือเจ้าหมื่นไววรนาถเป็นผู้บรรเลง และบันทึกเสียงโดย ดร.คาร์ล สตุฟ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเรื่องของเสียงและการบันทึกเสียงในประเทศเยอรมนี

[คลิป] ภาพประวัติศาสตร์ประชาชนร่วมกันจุดเทียนและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ท้องสนามหลวงคืนวันที่ 22 ต.ค.2559

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง