สาส์นจากพระราชาผ่านงานวรรณกรรม

Logo Thai PBS
สาส์นจากพระราชาผ่านงานวรรณกรรม
แบบอย่างบุคคลผู้เปี่ยมด้วยความเพียรและความเสียสละ คือต้นแบบสำคัญในพระราชนิพนธ์แปลทั้ง 3 เรื่องในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรมยังเป็นแนวทางให้พสกนิกรน้อมนำมาดำเนินชีวิต

จากลูกชาวนาที่ครอบครัวแตกแยก หากด้วยความมุ่งมั่นและการอุทิศตัวเพื่อประเทศชาติของ "โจซิบ โบรซ" หรือ ติโต ทำให้เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี จนได้ชื่อเป็นรัฐบุรุษในหัวใจของประชาชน เรื่องราวความเสียสละของผู้นำโลกคนสำคัญ เผยแพร่ผ่านพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ติโต ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงแปลจากเรื่อง Tito ของ Phyllis Auty และตีพิมพ์เมื่อปี 2537 เป็นหนังสือชีวประวัติเล่มสำคัญ ที่ "ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล" นักการทูตและทายาทนักเขียนศิลปินแห่งชาติ ประภัสสร เสวิกุล ใช้ศึกษาเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับการเสียสละเพื่อส่วนรวม อีกแนวคิดซึ่งถ่ายทอดในพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง "นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ" เล่าถึงสายลับอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้อุทิศตนเพื่อสันติภาพ โดยไม่หวังผลตอบแทน

ได้รับการสร้างสรรค์ทั้งในรูปแบบแอนิเมชั่นและฉบับการ์ตูน ทำให้ชาดกที่สอดแทรกคุณธรรมเรื่องความเพียรและหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก มีความร่วมสมัยและเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง ไม่เพียงแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรม หากพสกนิกรยังสามารถน้อมนำมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้เสมอ

นอกจากงานพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ยังมีพระราชประสงค์ให้รวบรวมความรู้แขนงต่างๆ เพื่อจัดทำสารานุกรมฉบับคนไทย เป็นที่มาของ "โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2512 จนถึงปัจจุบัน เป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการวรรณกรรมที่ยังประโยชน์ทางปัญญาและความรู้ต่อพสกนิกร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง