เปิดขุมทรัพย์อุทยานฯ อันดามัน ตอน 2 : ถุงเงินใส่เบี้ยพันล้านของอุทยานฯ รั่วตรงไหน

10 มิ.ย. 58
09:44
278
Logo Thai PBS
เปิดขุมทรัพย์อุทยานฯ อันดามัน ตอน 2 : ถุงเงินใส่เบี้ยพันล้านของอุทยานฯ รั่วตรงไหน

นักวิชาการตั้งข้อสังเกตจำนวนนักท่องเที่ยวของททท.กับอุทยานฯต่างกันลิบ ตัวเลขนักท่องเที่ยวของททท.6 จังหวัด ฝั่งอันดามัน ในปี 2556 มากกว่า 10 ล้านคน คาดเป็นต่างชาติถึง 70 เปอร์เซนต์ แต่กรมอุทยานฯ กลับบันทึกว่ามีไม่กี่แสนคน ชี้แค่หมู่เกาะสิมิลันก็วันละ 6-9 แสนคน ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางลงไปเก็บเองที่เกาะพีพี เพียง 16 วัน ในช่วงโลว์ซีซั่น มีรายได้กว่า 8 ล้านบาท ขณะที่อุทยานฯรายงาน 6 เดือนช่วงไฮซีซั่นเก็บได้แค่ 13 ล้านบาท จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า รายได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้รับ จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือใดๆ ตาม “ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2546” ปีละเกือบพันล้านบาทและมีการจัดสรรปันส่วนไปตามส่วนต่าง ๆ นั้น กรมอุทยานฯ เก็บเบี้ยพันล้านจาก 'ผืนป่า-ท้องทะเล' http://news.thaipbs.or.th/node/294484

แม้จะมีการแบ่งสรรปันส่วนต่างๆ ออกไปแล้วก็ตาม แต่รายได้ส่วนใหญ่ถึง 95 เปอร์เซนต์ ยังคงอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่จะใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยสัดส่วนอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับรายรับก็ตาม

ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ศึกษาข้อมูลอุทยานแห่งชาติ ในฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 16 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 1 แห่ง เพื่อเตรียมนำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทางธรรมชาติ ตั้งข้อสังเกตถึงจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ โดยเปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวกับรายได้ระหว่างปี 2553-2557 โดยระบุในเอกสาร ที่นำมาเข้าร่วมประชุมกับบรรดาผู้ประกอบการท่องเที่ยวจาก 6 จังหวัดคือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า

จากสถิติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า ในปี 2556 มีนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวทางฝั่งทะเลอันดามัน ปีละ 21 ล้านคน ใน 6 จังหวัด (ซึ่งเพิ่มมาจากปี 2553 มากกว่าเท่าตัว) จ.ภูเก็ต มีนักท่องเที่ยว ในปี 2556 ปีละ 11.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 70 เปอร์เซนต์ คิดเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน

จ.กระบี่ มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาจากปี 2553 ซึ่งมี 2.38 ล้านคน เป็น 3.76 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นชาวต่างชาติ 53 เปอร์เซนต์ คือ ประมาณ 2 ล้านคน นักท่องเที่ยว ท่องเที่ยวบริเวณอ่าวนาง และเกาะพีพี ซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี บางส่วนไปเกาะลันตา และท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี

จ.พังงา มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 600,000 คน เป็น 2 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวบริเวณเขาหลัก ซึ่งเป็นจุดต่อไปท่องเที่ยวยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบจำนวนนักท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน บันทึกไว้ กลับน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้ง ๆ ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากเขาหลัก เดินทางไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ทั้งเกาะเมียง (เกาะสี่) เกาะสิมิลัน (เกาะแปด) และเกาะตาชัย

ส่วน จ.ตรัง จ.สตูล และระนอง ยังมีนักท่องเที่ยวน้อย คือ ระนอง 700,000 คน ตรัง 1.2 ล้านคน และสตูล 1 ล้านคน

ดร.ศักดิ์อนันต์ระบุว่า ที่จ.สตูล มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางตรงมาจากเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ไปยังเกาะหลีเป๊ะ และหมู่เกาะอาดัง-ราวี เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งไม่สามารถตรวจตรา จำนวนนักท่องเที่ยวที่แท้จริงได้ โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเป็นจำนวนมาก และอยู่นอกระบบ มีการใช้จ่ายเงินค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเรือ ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย และเข้ามาใช้ทรัพยากรท่องเที่ยว ดำน้ำ ที่หมู่เกาะอาดัง ราวี หลีเป๊ะ โดยไทยไม่ได้ผลประโยชน์อะไร แต่กลับสร้างความเสื่อมโทรมให้กับทรัพยากรแนวปะการัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่กรมอุทยานแห่งชาติบันทึกไว้เมื่อปี 2557 พบว่า มีเพียง 916,000 คน เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวทางฝั่งทะเลอันดามันมากเกิน 20 ล้านคน โดยอุทยานแห่งชาติยอดนิยม ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศนิยมไปท่องเที่ยวมาก เช่น อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา กลับมีนักท่องเที่ยวที่น้อยกว่าความเป็นจริงมาก

“เป็นไปไม่ได้ที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จะมีนักท่องเที่ยวเพียงปีละ 224,653 คน และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จะมีนักท่องเที่ยวเพียงปีละ 143,205 คน ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ บันทึกไว้ ควบคู่กับสถิติเงินรายได้” ดร.ศักดิ์อนันต์ตั้งข้อสังเกต

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยัง จ.พังงา ที่เพิ่มขึ้นมาก อันเป็นผลมาจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณเขาหลัก ซึ่งส่งผลให้มีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น จากการนำนักท่องเที่ยวไปยังเกาะตาชัย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และการไปหมู่เกาะสิมิลันโดยตรง หากพิจารณาจากเรือ speed boat ที่นำนักท่องเที่ยวไปเกาะตาชัยวันละ 30-40 ลำ แต่ละลำบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ 30-40 คน และเรือที่ไปเกาะสี่ เกาะแปด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อีกวันละ 30-50 ลำ ซึ่งควรจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันถึง ประมาณวันละ 2,000-3,000 คน หรือเดือนละ 60,000-90,000 คน ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนพฤษภาคม (ปิดอุทยานฯ 15 พ.ค.-15 พ.ย.) หรือ มากกว่าปีละ 500,000 คน แต่อุทยานฯกลับบันทึกจำนวนนักท่องเที่ยวไว้เพียงปีละ 90,000-100,000 คน

<"">

<"">

<"">

ดร.ศักดิ์อนันต์ยังระบุต่อว่า ด้วยเหตุนี้ รายได้ที่กรมอุทยานฯ บันทึกไว้ จึงมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น คือ ไม่เกินปีละ 30 ล้านบาท (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน) ซึ่งหากพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียมที่เก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 500 บาท เด็ก 300 บาท คนไทย ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท โดยนักท่องเที่ยวประมาณ 50 เปอร์เซนต์ เป็นชาวต่างประเทศ ดังนั้นหากสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้โดยไม่รั่วไหล อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียม เข้ารัฐปีละ 80-100 ล้านบาท โดยยังไม่รวมค่าธรรมเนียมจากการดำน้ำลึก และค่าธรรมเนียมการประกอบการนำเที่ยว

นอกจากนี้ดร.ศักดิ์อนันต์ ยังยกตัวอย่างกรณีอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งเป็นอีกแห่ง ที่เก็บค่าธรรมเนียมได้น้อยกว่าความเป็นจริงว่า ในช่วงที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี สามารถเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานฯ ได้ประมาณวันละ 80,000 บาท โดยมีอัตราการเก็บนักท่องเที่ยว ดังนี้ ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท คนไทยผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ในปี 2557 สามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้ปีละ 24 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2558 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558 (6 เดือน) เก็บเงินได้ 13,214,120 บาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตรวจสอบการเก็บค่าธรรมเนียมอย่างเคร่งครัด โดยมีเจ้าหน้าที่จากนอกพื้นที่ไปกำกับการขายตั๋วค่าเข้าอุทยานแห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 18 พ.ค. ถึงวันที่ 1 มิ.ย.2558 ปรากฏว่า แม้จะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ซึ่งมีนักท่องเที่ยวน้อยกว่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แต่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี สามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้ถึงวันละ 400,000 – 600,000 บาท รวมทั้งหมดได้ 8,069,190 บาท ดังตาราง การบันทึกข้อมูลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5

<"">

หากอุทยานฯ สามารถเก็บเงินรายได้ในระดับนี้ตลอดทั้งเดือน จะมีรายได้เดือนละประมาณ 16 ล้านบาท และหากเป็นช่วงไฮซีซั่น ก็จะเก็บได้มากกว่านี้อีกเท่าตัว ดังนั้นอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อาจมีรายได้สูงมากกว่าปีละ 300 ล้านบาท

ในขณะที่เงินรายได้ในช่วงไฮซีซั่นที่ผ่านมา 6 เดือน (ต.ค.2557- มี.ค.2558) กลับมีรายได้เพียง 13,214,120 บาท เท่านั้น

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวทดลองคำนวนรายได้ โดยใช้ตัวเลขขั้นต้น จากรายได้เพียง 16 วัน ในช่วงโลว์ซีซั่น เป็นหลัก โดยตั้งสมมุติฐานว่า หาก 16 วัน มีรายได้ 8,000,000 บาทถ้วน จำนวน 31 วัน หรือ 1 เดือน มีรายได้ 16,000,000 บาท ถ้าคิดคำนวนเพียง 10 เดือน อุทยานฯจะมีรายได้ 16,000,000 X 10 = 160,000,000 บาท

และหากกรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดเก็บรายได้จากอุทยานแห่งชาติเพียง 10 แห่ง จากทั้งหมดทั่วประเทศ 148 แห่ง กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะมีรายได้ถึงปีละ 1600,000,000 บาท (หนึ่งพันหกร้อยล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่ารายได้ที่จัดเก็บได้จากอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ในปี 2556 คือ 662 ล้านบาท ถึง 938 ล้านบาท

ทำให้เกิดคำถามว่า “เงินจำนวนมหาศาลนี้หายไปไหน?”

จากการสอบถามผู้ประกอบการบางคนทราบว่า รายได้ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียม เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติที่รั่วไหล เกิดขึ้นเป็นส่วนมากระหว่างการจัดเก็บ เช่น หากบริษัททัวร์แห่งหนึ่งนำนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศกลุ่มหนึ่งจำนวน 10 คน เข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งหากดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ไกด์นำเที่ยวจะต้องซื้อตั๋วค่าธรรมเนียมจำนวน 10 ใบ หรือเท่าจำนวนคน (โดยเงินจำนวนนี้บริษัททัวร์คิดรวมกับค่าหัวในการซื้อทัวร์มาแล้ว)

ซึ่งหากค่าธรรมเนียมในอุทยานแห่งชาตินั้น ระบุว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ คนละ 300 บาท ไกด์จะต้องซื้อบัตร 10 ใบ ให้กับนักท่องเที่ยว และอุทยานแห่งนั้น จะต้องรับเงินสด 3,000 บาท

แต่วิธีการกลับไม่เป็นเช่นนั้น ไกด์นำเที่ยวจะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ จ่ายค่าบริการเพียง 4 คน หรือ 1,200 บาท โดยยินยอมที่จะไม่รับตั๋วหรือบัตรค่าบริการ เป็นต้น ทำให้บริษัททัวร์มีเงินเหลือจากค่าหัว 1,800 บาท และเจ้าหน้าที่อุทยานฯจะได้เงินสดไปทันที 1,200 บาท เสมือนว่าไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่

หรืออีกกรณีหนึ่งคือ การจำหน่ายบัตรค่าบริการของคนไทยให้กับชาวต่างประเทศแทน ซึ่งมีมูลค่าที่แตกต่างกัน และไม่มีการตรวจสอบเกิดขึ้น ซึ่งหากอุทยานฯแห่งนั้นกำหนดว่า ชาวต่างประเทศ 300 บาท คนไทย (ผู้ใหญ่) 40 บาท เมื่อจ่ายเป็นคนไทยจะทำให้รัฐเสียรายได้ที่ควรได้รับคนละ 260 บาท หาก 10 คน รัฐจะเสียรายได้ 2,600 บาท ซึ่งส่วนต่างตรงนี้ ไกด์อาจจะมอบให้เจ้าหน้าที่เพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อเป็นสินน้ำใจประมาณ 500-1,000 บาท เป็นต้น

นี่เป็นเพียง 2-3 วิธีของการทำเงินจำนวนมหาศาลหล่นหายไป แทนที่รัฐหรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ ควรจะมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังมีอีกหลายรูปแบบที่ทำให้เงินรายได้หายจำนวนมาก

ติดตามเพิ่มเติมจาก : เปิดช่องทางทุจริตรายได้อุทยานแห่งชาติ http://news.thaipbs.or.th/node/294633

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง