ชาวนาภาคอีสานยังเห็นต่าง มติ ครม.รับจำนำข้าวตันละ 13,000 บาท

ภูมิภาค
2 พ.ย. 59
12:16
298
Logo Thai PBS
ชาวนาภาคอีสานยังเห็นต่าง มติ ครม.รับจำนำข้าวตันละ 13,000 บาท
ชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเห็นต่างกรณีมติคณะรัฐมนตรีช่วยชาวนาตันละ 13,000 บาท โดยเฉพาะชาวนา จ.บุรีรัมย์ ต่างเร่งเก็บเกี่ยวเพื่อนำข้าวเข้าร่วมโครงการ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ชะลอการเก็บเกี่ยว เนื่องจากราคาข้าวตกต่ำ

วันนี้ (2 พ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาบ้านปรือพัฒนา ต.สวายจีก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ต่างเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/2560 ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะรับจำนำจากชาวนาตันละ 13,000 บาท หลังก่อนหน้านี้ ต่างชะลอการเก็บเกี่ยว เนื่องจากราคาตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 5 - 6 บาท

แตกต่างจากชาวนาบ้านก่อ ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มองว่าการให้ชาวนานำข้าวไปจำนำกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ชาวนาไม่สามารถทำตามได้ เพราะส่วนใหญ่ไม่มียุ้งฉางไว้ และไม่มีพื้นที่ตากข้าว

ส่วนชาวนา ต.หนองปลิง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเหลือเพียงอีก 3 วัน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ บอกว่า ดีใจที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือจากราคาข้าวตกต่ำในขณะนี้ เนื่องจากชาวนาไม่มีความรู้ หากจะนำข้าวไปขายทางระบบออนไลน์ รวมทั้งข้าวมีความชื้น จากฝนตกหนักและถูกน้ำท่วม ทำให้ถูกโรงสีกดราคาจนขาดทุน

ขณะที่หลายจังหวัดเร่งหามาตรการช่วยเหลือชาวนาอย่างภาคเหนือ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนชาวนาและผู้ประกอบการโรงสี เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ เบื้องต้น การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนจะดำเนินการตามมติของคณะรัฐมนตรีในการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ในอัตรา 800 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย ซึ่งผลผลิตจะออกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมประมาณกว่า 300,000 ตัน

เช่นเดียวกับนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่เรียกผู้เกี่ยวข้องหารือ เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าว ที่คาดว่าจะมีผลผลิตกว่า 200,000 ตัน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เร่งทำความเข้าใจถึงแนวทางการช่วยเหลือกับเกษตรกร เพื่อไม่ให้ออกมาชุมนุม พร้อมทั้งให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดประสานกับห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา และหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายข้าวสาร จากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง