ทำไมชาวนาขายข้าวได้ถูก แต่ข้าวถุงยังแพง? วิเคราะห์ตลาดข้าวถุง

เศรษฐกิจ
3 พ.ย. 59
14:54
7,095
Logo Thai PBS
ทำไมชาวนาขายข้าวได้ถูก แต่ข้าวถุงยังแพง? วิเคราะห์ตลาดข้าวถุง
ชาวนาหลายคนปรับตัวมาแล้วล่วงหน้าหลายปี บางชุมชนทำการตลาดเองในรูปแบบข้าวถุง แต่ก็สำเร็จแค่บางส่วนเท่านั้น เพราะจริงๆแล้วการตลาดของข้าวหอมมะลิกับข้าวเจ้าก็ไม่เหมือนกัน

คำถามที่คาใจทั้งคนปลูกและคนกินในตอนนี้หนีไม่พ้นว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ข้าวเปลือกของชาวนามีราคาที่ถูก ไม่สมน้ำสมเนื้อกับราคาข้าวถุงในมือเอกชน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวถุงยังไม่ถูกลงเหมือนกับราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในขณะนี้ เพราะวัตถุดิบหลักในการผลิตข้าวถุง เป็นข้าวสต็อกเก่า ซึ่งมีราคาแพงกว่าในปัจจุบัน

โครงสร้างราคาข้าวถุงในปัจจุบัน ประกอบด้วยต้นทุนหลัก คือ วัตถุดิบหรือข้าวคิดเป็นร้อยละ 80 ของต้นทุนรวม ค่าวางสินค้าในห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 7 ส่วนต้นทุนที่เหลือเป็นค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง ค่าแรง แต่กำไรจะไม่เกินร้อยละ 5 ของราคาขาย


มีคำอธิบายเพิ่มเติมจากนายสมเกียรติ มรรคยาธร อดีตนายกสมาคมข้าวถุงไทย โดยระบุว่าแม้ราคาข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิจะปรับตัวลดลง แต่ราคาข้าวบรรจุถุงยังทรงตัวเนื่องจากเป็นสต็อกเก่า โดยมีราคาต้นทุนของข้าวสารหอมมะลิ อยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท ขณะที่ราคาต้นทุนในปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 21-22 บาท

ด้านกระทรวงพาณิชย์ ก็รายงานเช่นกันว่าผู้ประกอบการใช้วัตถุดิบข้าวสต็อกทำให้ราคาข้าวบรรจุถุงไม่สามารถลดลงได้ทันที และราคาข้าวเปลือกในปัจจุบันที่ลดลงจะส่งผลต่อราคาข้าวถุงให้ปรับตัวลดลงนั้นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

สอดคล้องกับนายบุรินทร์ ธนถาวรลาภ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้าวแสนดี ที่ระบุว่า ตลาดข้าวจะซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งในเดือน พ.ย.-ธ.ค. โรงสีเเจ้งราคาข้าวหอมมะลิที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวหอมมะลิออกมามาก

ถ้าชาวนาทำข้าวออกมาขายเอง ผู้ประกอบการข้าวถุงจะได้รับผลกระทบหรือจะถึงขั้นส่งผลกับข้าวเปลือกที่จะไปผลิตเป็นข้าวถุงเลยหรือไม่นั้น

ผู้ประกอบการข้าวถุงบางราย บอกว่าข้าวถุงที่เกษตรกรชาวนานำมาขายเป็นตลาดทั่วไปหรือตลาดล่าง ซึ่งประเมินเบื้องต้นคิดเป็นร้อยละ 5 ของตลาดข้าวถุง ด้วยสัดส่วนที่ไม่มากผู้ประกอบการข้าวถุงจึงคาดว่าไม่น่าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม

นายบุรินทร์ ธนถาวรลาภ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้าวแสนดี กล่าวว่ากรณีที่เกษตรกรหันมารวมกลุ่มผลิตข้าวถุงขายเองนับเป็นเรื่องที่ดี ช่วยให้ขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น เพราะไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ขณะเดียวกันก็ไม่กระทบกับผู้ประกอบการข้าวถุงเนื่องจากเป็นคนละตลาด โดยตลาดหลักของข้าวถุงคือผู้บริโภคในห้างสรรพสินค้าหรือโมเดิร์นเทรด

ส่วนข้าวถุงของเกษตรจะขายตรงตามตลาดทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ถึงร้อยละ 5 ของตลาดข้าวบรรจุถุง ขณะที่ยอดการจำหน่ายข้าวบรรจุถุงในปัจจุบัน พบว่า มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประชาชนลดการบริโภคข้าว หันไปบริโภคอาหารชนิดอื่นที่ทดแทนข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งสมาคมข้าวถุง สมาคมค้าปลีก และกระทรวงพาณิชย์ มีแผนจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคข้าวให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ เพื่อขยายตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น และขยายตลาดส่งออก

ด้านนายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ยอมรับว่าขณะนี้ผู้ส่งออกลดราคาส่งออกข้าวจนเท่ากับประเทศคู่แข่ง ทั้งเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ที่ตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากต้องการเร่งระบายผลผลิตปริมาณมากออกต่างประเทศ หลังผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น ซ้ำยังถูกปริมาณข้าวในสต็อกรัฐบาลกดดันราคา ส่งผลให้ราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้าลดลงชั่วคราว แต่เชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยราคาข้าวในประเทศปรับตัวดีขึ้นภายใน 1-2 เดือนนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง