เรื่องเล่าจากช่างซ่อมจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในหลวง รัชกาลที่ 9

Logo Thai PBS
เรื่องเล่าจากช่างซ่อมจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในหลวง รัชกาลที่ 9
ความสนพระราชหฤทัยในงานจิตรกรรมเป็นที่ประจักษ์ น้อยคนนักจะทราบเบื้องหลังการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เหมือนช่างซ่อมจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ที่การอนุรักษ์ครั้งใหญ่ ทำให้พบว่าทรงงานจิตรกรรมด้วยพระองค์เองตั้งแต่ทำกรอบเฟรมอย่างเรียบง่าย

การได้เห็นจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เคยซ่อมแซมมากับมือ ยังคงสภาพดีเหมือนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เป็นความภูมิใจสูงสุดของ "สมศักดิ์ แตงพันธ์" อดีตหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง และประติมากรรมติดที่ กรมศิลปากร ที่เป็นแรงหลักอนุรักษ์จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ครั้งใหญ่ปีพุทธศักราช 2547 ไม่เพียงประทับใจความสนพระราชหฤทัยในงานจิตรกรรมไม่จำกัดแนว หากเบื้องหลังการอนุรักษ์ยังเผยให้เห็นการประดิษฐ์กรอบเฟรมโดยใช้เพียงอุปกรณ์ใกล้ตัว ทั้งคลิปหนีบกระดาษ หรือหมุดยึดผ้าใบกับแผ่นไม้ สะท้อนการทรงงานจิตรกรรมอย่างเรียบง่ายด้วยพระองค์เองตั้งแต่ขั้นตอนแรก ซึ่งสมศักดิ์บันทึกขั้นตอนอนุรักษ์เป็นภาพถ่ายรวมเล่ม เป็นทั้งองค์ความรู้และแรงบันดาลใจจากพระราชา

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์กว่า 100 องค์ ผ่านตานักอนุรักษ์รุ่นใหญ่จนจดจำได้แม่นยำ ทั้งพระบรมสาทิสลักษณ์ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงวาดพระองค์เอง ผ่านการซ่อมแซมผ้าใบที่ฉีกขาดด้วยการใช้ขี้ผึ้งประสานเนื้อผ้าผืนใหม่รองรับผืนผ้าเดิม ส่วนภาพแนวเซมิแอพแสค "บุคลิกซ้อน" ได้แก้ไขชั้นสีหลุดร่อน โดยยึดหลักคงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด ในชีวิตนักอนุรักษ์ความภาคภูมิใจสูงสุดนอกจากได้ซ่อมแซมภาพฝีพระหัตถ์ ครั้งหนึ่งที่ได้ถวายรายงานการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธิ์ ยังกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้แม้ผ่านพ้นวัยเกษียณยังไม่ละทิ้งงานอนุรักษ์

ช่วงปีพุทธศักราช 2502-2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ทรงงานจิตรกรรมอย่างต่อเนื่อง จากนั้นทรงว่างเว้นเพราะมีพระราชกรณีกิจมากมาย จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ส่วนใหญ่จึงมีอายุไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งหลังการอนุรักษ์ได้เก็บรักษาไว้ที่วังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต, ฝ่ายราชพัสดุชาวที่ กองชาวที่ สำนักพระราชวัง และมีสำเนาจิตรกรรมฝีพระหัตถ์กว่า 40 องค์ พร้อมองค์จริง 4 องค์ อยู่ที่หออัครศิลปิน จ.ปทุมธานี ซึ่งเปิดแสดงถาวรให้ชมพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของพระผู้เป็นองค์อัครศิลปิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง