นักวิชาการแนะรัฐแก้ราคาข้าวตกต่ำระยะยาว จัดโซนนิ่ง-กำหนดปริมาณผลิต-พัฒนาคุณภาพข้าว

Logo Thai PBS
นักวิชาการแนะรัฐแก้ราคาข้าวตกต่ำระยะยาว จัดโซนนิ่ง-กำหนดปริมาณผลิต-พัฒนาคุณภาพข้าว
แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิ ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายเพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ แต่ก็มีชาวนาบางส่วนไม่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากต้องการได้เงินทันที ยังประสบปัญหาไม่มีที่ตากข้าวและยุ้งเก็บข้าวไม่เพียงพอ จึงยอมขายข้าวแบบขาดทุน

วันนี้ (6 พ.ย. 2559) วาสนา ทองใบ ชาวนา ต.คำเนียม อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ จ้างรถเกี่ยวข้าวในพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวหอมมะลิ พันธุ์ กข 15 จำนวน 16 ไร่ เพื่อขายให้กับโรงสีในพื้นที่ แทนการเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายของรัฐบาล

เช่นเดียวกับ บุษยา พละชาติ ที่ไม่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพราะมีเงื่อนไขที่เธอไม่สามารถทำได้ เช่น การตากข้าวให้ได้ความชื้นร้อยละ 15 หรือแม้แต่การเก็บในยุ้งฉาง ซึ่งเธอมีพื้นที่ไม่เพียงพอกับการเก็บข้าว

สำหรับราคาข้าวที่ชาวนาในพื้นที่ขายได้ขณะนี้ อยู่ที่กิโลกรัมละ 6.50 บาท หรือตันละ 6,500 บาท สำหรับความชื้นข้าวร้อยละ 20 ขึ้นไป ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ราคากิโลกรัมละ 9-10 บาท หรือ 9,000-10,000 บาทต่อตัน ถือว่าราคาข้าวปีนี้เป็นราคาต่ำสุดในรอบหลายปี

กลุ่มชาวนาจึงต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลราคาข้าวให้เกษตรกรอยู่ได้ เนื่องจากราคาที่ขายในปัจจุบันเป็นราคาที่ไม่คุ้มกับต้นทุน

ส่วนมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิของรัฐบาล ช่วยได้เฉพาะชาวนาที่มีที่ตากข้าว มียุ้งเก็บข้าว แต่สำหรับชาวนารายย่อยส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ตากข้าวและไม่มียุ้งฉาง รวมทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สิน ทำให้ต้องตัดสินใจขายข้าวในราคาถูกให้กับโรงสีแม้ขาดทุน

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า มาตรการสินเชื่อชะลอการขายช่วยได้ระยะสั้น แต่ระยะยาวรัฐต้องแก้ปัญหาการเพาะปลูก การจัดโซนนิ่งกำหนดปริมาณข้าวที่เหมาะสมและพัฒนาคุณภาพข้าวให้ดีขึ้น

สำหรับโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ 2 ล้านตัน รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือชาวนา โดยให้ชะลอขายข้าวบางส่วนไว้และเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง ชาวนาที่ร่วมโครงการนี้จะได้รับสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร้อยละ 90 หรือประมาณตันละ 9,500 บาท จากราคาข้าวในตลาด นอกจากนี้จะได้ค่าเก็บเกี่ยว ค่าตากข้าวรวมไปถึงการเก็บข้าวขึ้นยุ้ง รวมแล้วจะได้รับเงินเฉลี่ยประมาณตันละ 13,000 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง