73 สหกรณ์ภาคเหนือ-อีสาน พร้อมเปิดจุดรับจำนำยุ้งฉาง 2 ล้านตัน วงเงิน 2.3 หมื่นล้าน

Logo Thai PBS
73 สหกรณ์ภาคเหนือ-อีสาน พร้อมเปิดจุดรับจำนำยุ้งฉาง 2 ล้านตัน วงเงิน 2.3 หมื่นล้าน
ผู้ตรวจการ ก.เกษตรฯ เผย สหกรณ์ 73 แห่ง ในภาคเหนือและอีสาน เตรียมเปิดจุดรับจำนำยุ้งฉาง พร้อมดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีให้กับชาวนาประมาณ 2 ล้านตัน วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ชาวนาเร่งนำข้าวเปลือกตากแดดลดความชื้นก่อนนำเข้าโครงการฯ

วันนี้ (7 พ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาใน ต.บ้านด่านแม่คำมัน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ นำข้าวเปลือกไปตากแดด เพื่อลดความชื้นบนถนน เตรียมนำเข้าโครงการจำนำยุ้งฉางของรัฐบาล โดยข้าวส่วนที่เหลือ ชาวนาบางคนต้องจำใจขายให้กับโรงสีในราคาเพียงตันละ 5,500-6,000 บาท และบางส่วนเก็บไว้กินเองเพื่อประหยัดรายจ่าย เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

ไม่ต่างจากชาวนาบ้านใหม่โปร่งนก ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ต้องเก็บข้าวเปลือกบางส่วนไว้สำหรับใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวในการทำนารอบต่อไปเพื่อลดต้นทุนทำนา หลังราคาข้าวตกต่ำเหลือเพียงตันละ 6,200-6,300 บาท

ชาวนาบอกว่า ที่ผ่านมาซื้อเมล็ดพันธ์ข้าวกระสอบละ 600 บาท หากทำนาในเนื้อที่ 60 ไร่ จึงต้องซื้อเมล็ดพันธ์สูงถึง 30,000 บาท เมื่อขายข้าวไม่ได้กำไร จึงต้องเก็บข้าวเปลือกบางส่วนไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าว และแม้ว่าจะประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ แต่ก็ยังยืนยันจะทำนาต่อไป

ส่วนที่ จ.พิจิตร โรงสีชุมชนบ้านวังแดงเหนือ อ.ทับคล้อ สวนกระแสข้าวราคาตกต่ำ เร่งนำข้าวเปลือกที่รับซื้อจากชาวนาในหมู่บ้านวังแดงเหนือ อ.ทับคล้อ ในราคาที่แพงกว่าท้องตลาด 300-500 บาท นำไปสีเป็นข้าวสารบรรจุลงในถุงขนาด15 กิโลกรัม จำหน่ายในราคาถุงละ 260 บาท ซึ่งถูกกว่าท้องตลาดเกือบ 100 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนา

ด้าน ชาวนาใน อ.กันทรวิชัย นำข้าวเปลือกไปขายให้กับสหกรณ์การเกษตรกันทรวิชัย ซึ่งเป็น 1 ใน 11 จุดของสหกรณ์ต่างๆ ใน จ.มหาสารคาม ที่เปิดจุดรับซื้อในราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 7-7.10 บาท ความชื้นไม่เกินร้อยละ 27 ซึ่งสูงกว่าราคาที่โรงสีทั่วไปที่รับซื้อไม่เกินกิโลกรัมละ 7 บาท

นายปริญญา เพ็งสมบัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มสหกรณ์ 13 จังหวัด ภาคเหนือและภาคอีสาน เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ที่ จ.ร้อยเอ็ด ว่า เบื้องต้นคาดว่าสหกรณ์ทั้ง 73 แห่ง สามารถรองรับข้าวเปลือกจากชาวนาที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 2 ล้านตัน วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้เร็วๆ นี้

ชาวนาบ้านบุดี ต.บุดี อ.เมืองยะลา ประมาณ 180 คน รวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวพื้นเมืองปลอดสารพิษ หรือข้าวบุดี เพื่อทำนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวง รัชกาลที่ 9 หลังวิทยาลัยชุมชนยะลาและสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองยะลา เข้าไปให้ความรู้ตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกร

ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สาขาหาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดจำหน่ายข้าวหอมมะลิเพื่อช่วยระบายข้าวให้กับชาวนา โดยจำหน่ายในราคา 5 กิโลกรัม ราคา 170 บาท เฉลี่ยกิโลกรัมละ 34 บาท ประชาชนที่ทราบข่าวต่างทยอยเดินทางมาซื้อ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง