บทบาท "เมลาเนีย ทรัมพ์" ว่าที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ

Logo Thai PBS
บทบาท "เมลาเนีย ทรัมพ์" ว่าที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ
ชาวอเมริกันกำลังจะได้ต้อนรับว่าที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง "เมลาเนีย ทรัมพ์" ภรรยาของโดนัลด์ ทรัมพ์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นับจากนี้เธอจะถูกจับตาทั้งด้านแฟชั่นและบทบาทการสนับสนุนสามีในงานต่างๆตลอดช่วงเวลา 4 ปี

นอกจากโดนัลด์ ทรัมพ์ จะดำรงตำแหน่งว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่แล้ว ยังทำให้ "เมลาเนีย ทรัมพ์" ภรรยาคนที่ 3 ของเขากลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งโดยอัตโนมัติ แม้เธอจะไม่ใช่นางแบบคนแรกที่มาเป็นเฟิร์สเลดี้ในทำเนียบขาว แต่เธอคือสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และเป็นคนแรกที่พูดได้ถึง 5 ภาษาทั้ง อังกฤษ, เซอร์เบีย, ฝรั่งเศส, อิตาลี และเยอรมัน

เมลาเนีย ทรัมพ์ เป็นชาวสโลเวเนีย เกิดในยูโกสลาเวีย เริ่มต้นอาชีพนางแบบเมื่ออายุ 16 ปีและย้ายมาทำงานในสหรัฐฯในปี 1996 สองปีต่อมาเธอได้พบกับโดนัลด์ ทรัมพ์ ในงานแฟชั่นวีคที่นิวยอร์ก ตอนแรกเธอไม่ยอมให้เบอร์โทรศัพท์แก่ทรัมพ์ และแยกทางกันหลังจากคบกันช่วงเวลาสั้นๆ แต่ไม่นานทั้งสองก็กลับมาสานสัมพันธ์กันอีกครั้ง นำไปสู่การแต่งงานในปี 2005 ซึ่งฮิลลารีและบิล คลินตันยังไปร่วมงานสมรสของคนทั้งสองอีกด้วย ทรัมพ์กล่าวถึงชีวิตรักกับเมลาเนียว่าเขาและเธอเข้ากันได้ดีอย่างมาก แทบจะไม่เคยมีข้อโต้แย้งกันเลย

การเป็นอดีตนางแบบ ทำให้เธอถูกจับตาว่าจะเป็นผู้นำแฟชั่นคนใหม่ของทำเนียบขาว แม้ชุดเปิดไหล่รัดรูปสีดำของโรลอง มูเรต์ ที่เธอสวมระหว่างการหาเสียงช่วงแรกๆ จะถูกวิจารณ์ว่าโชว์เนื้อหนังมากเกินไป แต่ไม่นานเมลาเนียก็พัฒนาสไตล์การแต่งตัวสวนกับคำวิจารณ์ ทั้งชุดเบราส์สีชมพูของกุชชี่ในงานโต้วาทีประชันวิสัยทัศน์ ส่วนชุดเดรสสีขาวของโรกซานดา อิลินซิก ดีไซเนอร์ชาวเซอร์เบีย ที่เธอสวมในงานประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน ก็ได้รับความนิยมจนถูกกว้านซื้อทางออนไลน์จนขาดตลาด และในคืนสำคัญที่โดนัลด์ ทรัมพ์ ประกาศชัยชนะจากการเลือกตั้ง เธอเลือกสวมชุดเดรสเปลือยไหล่ข้างเดียวของราล์ฟ ลอว์เรน ดีไซเนอร์ชาวอเมริกัน สื่อความไว้วางใจในแบรนด์ดังผลงานชาวอเมริกัน

บทบาทที่เธอต้องการมีส่วนร่วมในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง คือการลดปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์ก่อนวันเลือกตั้งว่าการเป็นเด็กที่ถูกรังแกในสวนสนุกก็แย่แล้ว แต่การถูกคุกคามโดยคนที่มองไม่เห็นในอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องที่เลวร้ายยิ่งกว่า อย่างไรก็ดี ความตั้งใจดังกล่าวก็ถูกวิจารณ์ว่าสวนทางกับพฤติกรรมของสามีที่มักใช้ข้อความดูหมิ่นและรุนแรงโจมตีผู้อื่นทางโซเชียลมีเดียเสมอ ส่งผลให้เลดี้ กาก้า นักร้องสาวที่รณรงค์ต่อต้านการกลั่นแกล้งในโรงเรียนออกมาต่อว่าเมลาเนียว่าเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก

ก่อนหน้านี้ เมลาเนีย ทรัมพ์ เพิ่งถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากกรณีลอกเลียนคำปราศรัยของเฟิร์สเลดี้คนก่อนอย่างมิเชล โอบาม่า มาใช้เป็นสุนทรพจน์ของตัวเองแบบคำต่อคำ แม้ตอนแรกเธอจะยืนยันว่าเป็นข้อความที่เธอเขียนขึ้นมาเอง แต่ภายหลังทีมเขียนบทสุนทรพจน์ของทรัมพ์ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบและขอโทษต่อการสร้างความสับสนดังกล่าว

การนำผลงานผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ยังเป็นสิ่งที่สามีอย่างโดนัลด์ ทรัมพ์ถูกศิลปินทั่วโลกโจมตีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่เขาประกาศลงเลือกตั้งก็นำเพลง Rockin’ in the Free World ของนีล ยัง มาใช้โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของศิลปิน ไม่ต่างจากการใช้เพลงของวง The Beatles, Queen, Aerosmith, R.E.M, เอลตัน จอห์น และอาเดล ตามอำเภอใจ ส่วนเพลง You Can't Always Get What You Want ที่โดนัลด์ ทรัมพ์ ใช้เปิดระหว่างฉลองชัยชนะก็เคยถูกเจ้าของบทเพลงอย่างวง Rolling Stones ขอร้องไม่ให้ใช้มาแล้ว

ขณะที่มิก แจ็คเกอร์ นักร้องนำวง Rolling Stones กล่าวอย่างประชดประชันว่า โดนัลด์ ทรัมพ์อาจจะอยากให้เขาไปร้องเพลง You Can't Always Get What You Want ซึ่งมีความหมายว่าคุณไม่จำเป็นต้องได้ในสิ่งที่ต้องการ ในพิธีสาบานตนของทรัมพ์ก็เป็นได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง