ปฏิรูปค่าตอบแทนนักการเมือง เรื่องอ่อนไหวที่ต้องจับตา

การเมือง
12 พ.ย. 59
21:06
721
Logo Thai PBS
ปฏิรูปค่าตอบแทนนักการเมือง เรื่องอ่อนไหวที่ต้องจับตา
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีปฏิรูปค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยืนยันสนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าตอบให้สมเหตุสมผลกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ล่าสุดสปท. เห็นชอบการปฏิรูประบบค่าตอบแทนและเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแล้ว

วันที่ 8 พ.ย.2559 สมาชิก สปท.139 เสียงเห็นชอบรายงานการปฏิรูประบบค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ภาครัฐ ตามที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินของ สปท.เสนอ และอยู่ระหว่างการจัดส่งให้รัฐบาล พิจารณาดำเนินการ

โดยสาระสำคัญของรายงานนั้นเสนอให้มีการจัดการให้เหมาะสมและมีเอกภาพในการกำหนดอัตรา สอดรับกับความสามารถในการจ่ายของรัฐ และตรงมาตรฐานค่าครองชีพ รวมไปถึงการปรับองค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.)

นายสมพงษ์ สระกวี ประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของ สปท. เปิดเผยว่าจะเสนอการปฏิรูปค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อคณะกรรมาธิการฯ ด้านการเมือง โดยเทียบเคียงกับโครงสร้างเงินเดือนผู้บริหารองค์การมหาชน แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็มีคำสั่งให้ชะลอไว้ก่อน เนื่องจากเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้าน โดยเฉพาะในประเด็นที่ผู้เสนอให้เพิ่มค่าตอบแทนอ้างว่า จะปิดช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริต ซึ่่งฝ่ายที่คัดค้านมองว่าไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าการปฏิรูปค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะทำให้ไม่เกิดการทุจริตได้

หากจะพิจารณากรอบค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในยุค คสช. อาจไม่แตกต่างกับในยุคของรัฐบาลเลือกตั้ง

แม้ควบตำแหน่งหัวหน้า คสช. แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องรับค่าตอบแทนเพียงตำแหน่งเดียว คือนายกรัฐมนตรี อัตราเงินเดือน 125,590 บาท ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ มีค่าตอบแทน 115,740 บาท ส่วนประธาน สปท. รวมแล้วจะอยู่ที่ 119,920 บาท ขณะที่ประธาน สนช. รวม 125,590 บาท ส่วนสมาชิก ทั้ง สนช. และสปท. รวมแล้วจะอยู่ที่ 113,560 บาท

แต่ถ้าเทียบกับองค์การมหาชน จะเห็นว่าค่าตอบแทนนั้น แยกออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนนโยบาย ส่วนวิชาการ และส่วนบริการ แต่ทั้ง 3 ส่วนนั้น มีกำหนดอัตราในระยะห่างราว 1 เท่าตัว ระดับแรกอยู่ที่เกือบ 300,000 บาท ระดับสองไม่น้อยกว่า 200,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 250,000 บาท และสุดท้ายไม่เกิน 250,000 บาท แต่ไม่ต่ำกว่า 255,000 บาท

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กลับสนับสนุนให้ปรับโครงสร้างค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ไม่ได้เกิดจากยอมรับในเหตุผลที่จะลดการทุจริตคอร์รัปชั่น และปฏิเสธที่จะเป็นการเพิ่มประโยชน์ให้กับตัวเอง หากตอบรับข้อเสนอนี้ เพราะสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับชี้ว่าจะรักษาคนดีไว้ในวงการเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง