สดร.แนะ 5 เทคนิคถ่ายภาพ "ซูเปอร์ฟูลมูน" คืนลอยกระทง

Logo Thai PBS
สดร.แนะ 5 เทคนิคถ่ายภาพ "ซูเปอร์ฟูลมูน" คืนลอยกระทง
ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) แนะ 5 เทคนิคถ่ายภาพ "ซูเปอร์ฟูลมูน" คืนลอยกระทง ในมุมมองของภาพลวงตา "Moon Illusion" ให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุด หรือที่เรียกว่า "ซูเปอร์ฟูลมูน" ความพิเศษของซูเปอร์ฟูลมูนปีนี้ คือ ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 68 ปี ที่ระยะห่าง 356,511 กิโลเมตร โดยสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันออกในทุกภูมิภาคของประเทศ

สำหรับผู้สนใจร่วมบันทึกภาพความสวยงามของปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี" ในครั้งนี้ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์ในมุมมองของภาพลวงตา หรือ "Moon Illusion" ซึ่งจะเห็นภาพดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ซึ่งเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพลวงตาดวงจันทร์ ประกอบด้วยเทคนิค 5 ประการ ดังนี้

1.เลือกสถานที่ ควรเลือกสถานที่ที่มองเห็นดวงจันทร์ทางทิศตะวันออกตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ บริเวณนั้น ควรมองเห็นวัตถุ เช่น คน เจดีย์ บ้าน ต้นไม้ ที่ใช้เป็นวัตถุเปรียบเทียบ ตั้งกล้องให้มีระยะห่างจากวัตถุเปรียบเทียบตั้งแต่ 1 กิโลเมตร ขึ้นไป หรือใช้การวัดระยะเชิงมุมด้วยนิ้วก้อย เพื่อเทียบขนาดวัตถุกับดวงจันทร์ได้ ณ ตำแหน่งที่ถ่ายภาพ ดวงจันทร์จะมีขนาดประมาณ 0.5 องศา หรือมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 1 นิ้วก้อยของเราเมื่อเหยียดสุดแขน

2.เลือกเลนส์เทเลโฟกัส ช่วงเลนส์ขนาดตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไป เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของวัตถุบริเวณขอบฟ้า

3.เลือกความเร็วชัตเตอร์ ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สัมพันธ์กับช่วงเลนส์ คือความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่ช้าจนเกินไป จนทำให้ภาพดวงจันทร์เบลอ เนื่องจากดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ขึ้นทางทิศตะวันออกสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งใช้ทางยาวโฟกัสสูงมากเท่าไหร่ ก็ต้องเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้นตามด้วยเช่นกัน

4.ปรับโฟกัสวัตถุเปรียบเทียบล่วงหน้า ควรปรับโฟกัสวัตถุที่เป็นฉากหน้าเปรียบเทียบก่อนดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้า เพราะการโฟกัสภาพที่ระยะไกลบริเวณขอบฟ้าที่มีมวลอากาศหนาแน่น จุดโฟกัสจะเคลื่อนไหวตลอดเวลา หากเรารอให้ดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้า แล้วค่อยโฟกัสที่ดวงจันทร์ เราอาจพลาดจังหวะดีๆ ในการถ่ายภาพเทียบกับวัตถุบริเวณขอบฟ้าดังกล่าวได้

5.แบล็คการ์ดเทคนิค การใช้มือบังบริเวณหน้าเลนส์บริเวณขอบภาพ ตำแหน่งของดวงจันทร์เพื่อให้แสงสว่างของดวงจันทร์ลดลง แล้วจึงกดชัตเตอร์ จะช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่มีความสว่างต่างกันไม่มากนัก สามารถนำไปปรับแต่งในโปรแกรม Photoshop โดยการดึง Shadow บริเวณฉากหน้า และลดแสง Highlight ลงได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ฟิลเตอร์ครึ่งซีกมาช่วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง