ชาวนากังวลกระแสช่วยซื้อข้าวตีกลับ หลังมีมิจฉาชีพหลอกซื้อข้าวออนไลน์

สังคม
16 พ.ย. 59
12:32
266
Logo Thai PBS
ชาวนากังวลกระแสช่วยซื้อข้าวตีกลับ หลังมีมิจฉาชีพหลอกซื้อข้าวออนไลน์
นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตือนผู้ประกอบการและชาวนาที่จะขายข้าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้แสดงความบริสุทธิ์ใจ หลังมีมิจฉาชีพหลอกขายข้าวแต่ไม่ได้ส่งข้าวให้

จากกระแสข่าวที่มีมิจฉาชีพอาศัยกระแสช่วยเหลือชาวนา โดยแอบอ้างเป็นลูกชาวนาและขอให้ "จั๊กจั่น"อคัมย์สิริ สุวรรณศุข นักแสดงชื่อดังโพสต์ขายข้าวผ่านอินสตาแกรม แต่เมื่อได้รับเงินแล้วกลับหายเงียบไป ทำให้หลายฝ่าย รวมทั้งชาวนาตัวจริงกังวลว่าประชาชนอาจลังเลที่จะซื้อข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนา ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมชาวนาที่กำลังเดือดร้อน

น.ส.สุนิสา สัญญารักษ์ ซึ่งเป็นลูกชาวนาที่มาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้อาจทำให้ลูกชาวนาขายข้าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้อีก เพราะคนจะไม่ไว้ใจ 

"ถ้าหนูจะโพสต์ขายข้าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หนูก็กลัวว่าเขาจะไม่เชื่อหรือไม่ซื้อข้าวของหนู เพราะว่ามีมิจฉาชีพมาแอบอ้างเป็นลูกชาวนา รู้สึกเสียใจที่มีคนมาปลอมเป็นลูกชาวนา" น.ส.สุนิสากล่าว

นายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ชัดเจน แต่แนะนำให้ผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบการ หรือ ลูกชาวนาที่ขายข้าวผ่านโซเชียลมีเดียอย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติผู้ขาย พื้นที่เพาะปลูก ความชัดเจนในการส่งมอบสินค้า หรืออาจจ่ายเงินค่าข้าวเพียงบางส่วน

วันนี้ (16 พ.ย.2559) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการเปิดพื้นที่ให้ชาวนานำข้าวมาขายผู้บริโภคโดยตรง

ชาวนาจากจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งนำข้าวมาขายในงานนี้ระบุว่า พอใจที่ขายข้าวหอมมะลิที่ขนมาจากบ้านกว่า 1 ตัน หมดลงในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง อีกทั้งยังได้รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าจำนวนมาก รวมทั้งพอใจผลตอบแทนที่ได้รับจากการขายข้าว โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางจึงต้องการให้หน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมสนับสนุนชาวนาอย่างต่อเนื่อง

นางกมลชนก สมสกุล ชาวนาจาก จ.บุรีรัมย์ บอกว่าดีใจที่มีหลายฝ่ายจัดกิจกรรมให้ชาวนามาขายข้าวโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางและเธอขายได้หมดภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง

"ดีใจที่ชาวนามีช่องทาง อยากให้ทำอย่างนี้ เราจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าที่เราขายข้าวเปลือก ข้าวที่เราเอามาขายก็เป็นข้าวที่มีคุณภาพ" นางกมลชนกกล่าว

ด้านนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นลูกชาวนาตามโครงการบอกว่า ดีใจที่ครอบครัวขายข้าวได้หมด หลังเดือดร้อนจากการขายข้าวเปลือกให้โรงสีซึ่งได้เงินเพียงกิโลกรัมละ 6-7 บาท แต่ต้องเร่งหาเงินไปจ่ายหนี้สถาบันการเงิน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง