ผู้เชี่ยวชาญเตือน ไม่ขยับร่างกายเท่ากับเสี่ยงป่วย-ตาย

สังคม
16 พ.ย. 59
21:55
1,150
Logo Thai PBS
ผู้เชี่ยวชาญเตือน ไม่ขยับร่างกายเท่ากับเสี่ยงป่วย-ตาย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนผู้ที่ไม่ชอบขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายหรือที่เรียกว่ามีพฤติกรรม "เนือยนิ่ง" เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคความดัน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละปี

วันนี้ (16 พ.ย.2559) ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่การประชุมนี้จัดขึ้นที่ประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย โดยก่อนที่พิธีเปิดการประชุมจะเริ่มขึ้น ผู้แทนนานาชาติจาก 80 ประเทศ ได้ร่วมกันยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 89 วินาที เพื่อแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

จากนั้นได้นำการแสดงโขนจากสถาบันคึกฤทธิ์ ตอน "ยกรบ" ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้เห็นถึงการผสมผสานกิจกรรมทางกาย เข้ากับการแสดงศิลปวัฒนธรรม โดยนักแสดงทุกคน ได้ติดเครื่องประกอบการแสดงค่าเครื่องมือวัดผลคลื่นสมองและการเคลื่อนไหวซึ่งจะทำให้ทราบค่าการเคลื่อนไหวร่างกายจากการแสดงโขน ถือเป็นวัตถุประสงค์หลักการจัดงาน เพื่อสร้างความตระหนักถึงการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอไม่ว่าจะในรูปแบบใด

โดยในการประชุมครั้งนี้ตั้งเป้าลดอัตราการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เพียงพอเป็นแนวคิดใหม่ ที่องค์การอนามัยโลกและทั่วโลก ต้องการให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยประเทศไทยพร้อมสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการทำกิจกรรมและการเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกาย

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีระบุว่าเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น จำเป็นจะต้องพัฒนาด้านกฎหมายและสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้คนมีกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกประมาณ 1 ใน 4 ยังมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน เช่นเดียวกับเด็กอายุระหว่าง 12-13 ปี ยังมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ

โดยการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างเด็กอายุ 6-17 ปี ในประเทศไทยจำนวนกว่า 17,000 คนทั่วประเทศ พบว่า ค่าเฉลี่ยกิจกรรมทางกายของเด็กไทยอยู่ระดับปานกลาง หรือ เกรด C และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งค่อนข้างสูง คือ การนั่งนิ่งอยู่กับที่ถึงวันละ 13 ชั่วโมง 35 นาที เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะอ้วนในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สอดคล้องกับข้อมูลองค์การอนามัยโลกที่พบว่า พฤติกรรมที่เนือยนิ่ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกถึงร้อยละ 5.5 หรือ ประมาณ 3.2 ล้านคนต่อปี จากโรคหัวใจ โรคความดัน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน จากปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมของเราเอง ทั้งการบริโภคอาหาร ไม่เหมาะสม และความเครียดสะสม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง