"ประสิทธิ์ ชนิตราภิรักษ์" ศิลปินผู้แกะแม่พิมพ์ธนบัตร

Logo Thai PBS
  "ประสิทธิ์ ชนิตราภิรักษ์" ศิลปินผู้แกะแม่พิมพ์ธนบัตร
การแกะแม่พิมพ์โลหะด้วยมือเป็นทักษะเฉพาะทาง ที่ช่างฝีมือน้อยคนจะได้ฝึกฝนโดยตรง หากหนึ่งในนั้นคือ "ประสิทธิ์ ชนิตราภิรักษ์" ผู้ออกแบบพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 บนธนบัตรไทย

การแกะแม่พิมพ์โลหะด้วยมือเป็นทักษะเฉพาะทาง ที่ช่างฝีมือน้อยคนจะได้ฝึกฝนโดยตรง หากหนึ่งในนั้นคือ "ประสิทธิ์ ชนิตราภิรักษ์" ผู้ออกแบบพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 บนธนบัตรไทย แม้ปัจจุบันจะหันไปทำงานศิลปะเต็มตัว หากยังคงใช้ทักษะที่ฝึกฝนสร้างสรรค์ผลงานบันทึกความทรงจำถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 

 

 

กว่าจะได้แต่ละลายเส้น สลักลงไปบนแม่พิมพ์โลหะ จนปรากฎเป็น พระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ศิลปินต้องอาศัยทั้งกำลังมือและหัวใจที่แน่วแน่ ลายเส้นที่ยิ่งแกะยิ่งละเอียดภาพที่ออกมาก็ยิ่งงดงาม นี่คือทักษะและความชำนาญตลอด 30 ปีของ "ประสิทธิ์ ชนิตราภิรักษ์" ผู้อยู่เบื้องหลังพระบรมสาทิสลักษณ์บนธนบัตรหลากหลายชุดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชวินิจฉัยทุกผลงานก่อนเผยแพร่ รวมถึงธนบัตรที่ระลึกฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ผลงานสุดท้าย ที่ทำสุดฝีมือในฐานะผู้ชำนาญการแกะแม่พิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

 

ไม่ถึงปีหลังจากออกมาเป็นศิลปินอิสระ อาจารย์ประสิทธิ์ อดีตผู้ชำนาญการแกะแม่พิมพ์ธนบัตรก็มาทำงานส่วนตัว และส่วนหนึ่งที่ชอบเลยคือภาพแนวเหนือจริง ได้ใช้เทคนิคภาพพิมพ์โลหะที่เชี่ยวชาญอยู่แล้วมาต่อยอดด้วย และยังตั้งเป้าว่าจะแสดงงานร่วมกับเพื่อนศิลปินกลุ่มกังหันอีกครั้งนึงในปี 2561

 

 

 

แม้วันนี้วางมือจากงานประจำมาเป็นศิลปินอิสระเต็มตัว หากความผูกพันทำให้ ประสิทธิ์ ชนิตราภิรักษ์ ยังสร้างสรรค์ศิลปะบันทึกความทรงจำต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งภาพลายเส้น และภาพพิมพ์โลหะ มีเครื่องพิมพ์ที่ออกแบบเอง จากต้นแบบครั้งศึกษาดูงานโรงพิมพ์ธนบัตรที่ญี่ปุ่นเป็นอุปกรณ์คู่ใจ ทั้งกำลังวางแผนเตรียมงานวาดลายเส้นแนวเหนือจริง วิพากษ์สังคม ไว้จัดแสดงในอีกสองปีข้างหน้า โดยไม่ว่าจะสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบไหน ประสิทธิ์ ยังยึดหลักการทำงานว่าศิลปะที่แท้ต้องเกิดจากความทุ่มเท หาใช่ผลผลิตเชิงพาณิชย์

 

 

ในวัย 58 ปี ประสิทธิ์หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เพราะผลจากการทำงานที่ต้องสัมผัสโดยตรงกับสารเคมีจากการพิมพ์มาหลายสิบปี หากเมื่อได้คิดถึงงานศิลป์บนธนบัตรที่ฝากไว้ ซึ่งยังคงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย นั่นก็เป็นรางวัลที่เพียงพอแล้วสำหรับความเหนื่อยยากที่ผ่านมา

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง