"เอฟเอโอ" แนะภาครัฐ-เอกชนไทยจับมือจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา

สิ่งแวดล้อม
20 พ.ย. 59
15:29
336
Logo Thai PBS
"เอฟเอโอ" แนะภาครัฐ-เอกชนไทยจับมือจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนไทยร่วมมือกันแก้ปัญหาและสร้างความตระหนักถึงปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ผู้ส่งออกสินค้าการเกษตรรายใหญ่

ดร. คาทิงก้า เดอ บาล็อค เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอนามัยสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์แห่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวเนื่องในสัปดาห์ "รู้รักษ์ ตระหนักใช้ ยาต้านแบคทีเรีย" ซึ่งตรงกับวันที่ 14-20 พ.ย.ของทุกปีว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมขับเคลื่อน "ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564" เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อบริโภครายใหญ่ทั้งข้าว ไก่และสัตว์น้ำ ในขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีความพร้อมด้านทุนทรัพย์และกำลังคนเพื่อร่วมกันนำนโยบายการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและอาหารปลอดภัยไปใช้อย่างครบวงจร

"เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งเดียวที่มีความซับซ้อน และจำเป็นต้องที่ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน ทั้งสาธารณสุข ปศุสัตว์ เกษตร สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาโดยการให้ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์แนวทางปฏิบัติที่ดีให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งภาคเอกชนและประชาสังคม เพราะทุกฝ่ายมีความสำคัญเท่ากันและสามารถช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาเชื้อดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ดร.คาทิงก้ากล่าว

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ "ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564" เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งกำหนดกรอบเวลาไว้ว่าจะนำยุทธศาสตร์นี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมร่วมมือสร้างความตระหนักถึงปัญหาเชื้อดื้อยาที่เชื่อมโยงทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ภายในเดือนมีนาคม 2560

กระบวนการหลังจากนี้ ทุกฝ่ายจะเข้าร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุขอีกครั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 นำไปสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม

ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้มีแผนปฏิบัติการรองรับยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิด สุขภาพหนึ่งเดียว 2. การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศไทย 3.การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล และควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม 4.การป้องกันและควบคุมกำกับดูแล การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5.การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน และ 6. การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ระบุว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบทั้งทางด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์ เกษตร และสิ่งแวดล้อม ด้านการรักษาโรคและป้องกันโรคทั้งในคนและสัตว์ รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย หากไม่รีบแก้ไขคาดว่าในปี พ.ศ.2593 ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตจากปัญหาเชื้อดื้อยารวม 10 ล้านคน และประเทศในทวีปเอเชียจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะจะเสียชีวิตมากที่สุดสูงถึง 4.7 ล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง