เตรียมเปิดให้บริการเรือเฟอร์รี่ข้ามฝากเส้นทางพัทยา-หัวหิน

เศรษฐกิจ
23 พ.ย. 59
11:07
809
Logo Thai PBS
เตรียมเปิดให้บริการเรือเฟอร์รี่ข้ามฝากเส้นทางพัทยา-หัวหิน
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นไป การเดินทางจากเมืองพัทยาไปยัง อ.หัวหิน จะประหยัดเวลาในการเดินทางมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐเตรียมจะเปิดให้บริการเรือเฟอร์รี่ข้ามฝากจากพัทยาไปยังหัวหิน ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมง 40 นาที

ปกติการเดินทางโดยรถยนต์จากพัทยามายัง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง ในระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร แต่หากเดินทางโดยเรือจะย่นระยะทางเหลือเพียง 100 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่งโมง 40 นาทีเท่านั้น

การเดินทางไปขึ้นเรือเฟอร์รี่ที่พัทยาจะขึ้นที่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย ส่วนหัวหินจะขึ้นเรือที่ท่าเรือสะพานปลา ซึ่งในเดือนมกราคม 2560 เป็นช่วงเริ่มต้นเดินเรือวันละ 2 เที่ยว เริ่มจาก หัวหิน - พัทยา ออกเดินเรือเวลา 08.30 - 09.40 น. และ พัทยา - หัวหิน ออกเดินเรือเวลา 15.30 - 16.40 น. โดยจะเพิ่มจำนวนเที่ยวมากขึ้นในเดือนต่อๆไป ซึ่งผู้ประกอบการเดินเรือเสนอแผนให้ใช้เรือโดยสาร Catamaran Ferry จำนวน 2 ลำ ขนาดบรรทุกผู้โดยสารได้ 150 คนและ 262 คน

สำหรับเรื่องค่าโดยสาร บริษัทได้เสนอขอจัดเก็บค่าโดยสารอัตรา 1,200 บาทต่อคนต่อเที่ยว ซึ่งกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างตรวจสอบต้นทุน จึงเป็นแผนการปรับการเดินการพัทยาหัวหิน ระยะที่ 1 ส่วนระยะที่ 2 ภาครัฐมีแผนจะปรับจากการเดินเรือโดยสารเพียงอย่างเดียว เป็นเรือขนาดใหญ่สามารถบรรทุกรถยนต์ได้ ซึ่งจุดขึ้น-ลงก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย

การเพิ่มทางเลือกด้วยวิธีโดยสารเรือเฟอร์รี่ข้ามฝั่งอ่าวไทยไปกลับพัทยา-หัวหิน แม้ว่าจะได้รับการขานรับจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว แต่นักวิชาการด้านทรัพยาการทางทะเลอย่าง ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความกังวลว่าหากเรือขนาดใหญ่วิ่งเข้าออกเส้นทางนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำประจำถิ่นในเส้นทางเดินเรือ

 

หากย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของโครงการคมนาคมในเส้นทางตะวันออกไปยังตะวันตกแถบอ่าวไทย พบว่ามีการเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ในสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อปี 2558 ในสมัยที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระะทรวงคมนาคม มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง โดยให้กรมเจ้าท่าศึกษาความเป็นไปได้ จนมีเอกชนมารับสัมปทาน

แต่การเดินเรือเฟอร์รี่พัทยา-หัวหินที่เคยดำเนินการมาแล้วในปี 2554 ครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีราคาแพง ผู้โดยสารมีน้อยและลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ รวมทั้งขาดความน่าสนใจด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากไม่มีเกาะที่สวยงาม ไม่สามารถแข่งขันกับการขนส่งทางถนนได้ และปัญหาใหญ่คือเรื่องคลื่นลมพายุทะเลฝั่งชะอำและหัวหินที่มีคลื่นใหญ่กว่าฝั่งพัทยา

เร่งเตรียมความพร้อมพื้นที่ท่าเทียบเรือสะพานปลาหัวหิน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีการคาดการว่าบริเวณท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งอาจจะกลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่มีเงินสะพัดประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งความพร้อมของพื้นที่ท่าเทียบเรือในขณะนี้ บริเวณพื้นที่ติดกับสะพานปลาหัวหิน มีภาคเอกชนมาดำเนินการขอเช่าพื้นที่กับองค์การสะพานปลาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้งเริ่มมีการก่อสร้างอาคาร บูทต่างๆ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ

ภาคธุรกิจท่องเที่ยวต่างขานรับเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวข้ามฝั่ง โดยหัวหน้าสำนักงานท่าเทียบเรือประมงหัวหิน ยืนยันว่าเอกชนสามารถใช้ท่าเทียบเรือแห่งนี้รับ-ส่งผู้โดยสารได้ แต่ต้องแจ้งก่อน 24 ชั่วโมงและต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่องค์การสะพานปลากำหนดไว้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ท่าเทียบเรือเพื่อการขนถ่ายสัตว์น้ำและให้บริการท่องเที่ยว

ที่ผ่านมาท่าเทียบเรือสะพานปลาหัวหินมีการปรับปรุงให้กว้างขึ้นจากเดิมและปรับปรุงพื้นบนสะพานปลาตลอดแนวยาว 250 เมตร รวมทั้งบริเวณที่ผูกทุ่นเรือและแสงสว่างไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อรองรับการให้บริการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการขนถ่ายสัตว์น้ำตามนโยบายของรัฐบาล เบื้องต้นขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งเป็นเอกสารจากหน่วยงานต้นสังกัดถึงกรณีดังกล่าว ทำให้ตอนนี้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 สาขาประจวบคีรีขันธ์ แจ้งได้เพียงให้บริษัทผู้ให้บริการมาติดต่อและประสานในขั้นตอนระเบียบต่างๆกับทางกรมเจ้าท่าไว้ก่อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง