“เรเนซอง “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดกระดูกสันหลัง ตัวแรกของไทย

สังคม
29 พ.ย. 59
16:33
1,398
Logo Thai PBS
“เรเนซอง “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดกระดูกสันหลัง ตัวแรกของไทย
เปิดตัวหุ่นยนต์เรเนซอง ช่วยงานผ่าตัดโรคกระดูกสันหลัง เส้นประสาทและไขสันหลัง แห่งแรก ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

วันนี้ (29 พ.ย.2559.) ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามา ธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้รักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดสมอง ไขสันหลัง กระดูกสันหลังและเส้นประสาท ซึ่งข้อมูลจากหน่วยเวชสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  รายงานว่ามีผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดด้วยโรคทางกระดูกสันหลังเพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต การนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้จึงมีความสำคัญ และนับว่าเป็นความสำเร็จของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่สามารถทำได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย

ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช สาขาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ กล่าวว่า หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเรเนซอง (Renaissance Robot) เป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาและสร้างขึ้นในประเทศอิสราเอล และได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 

โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยประสาทศัลยแพทย์ ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังและสมอง ซึ่งการนำมาใช้ประโยชน์ในระยะแรก จะเป็นการกำหนดเป้าและทิศทางการเดินทางของสกรูเพื่อการยึดตรึงกระดูกสันหลังเพื่อความแข็งแรง ไม่เคลื่อนที่ออกไปจากตำแหน่งปกติที่ควรจะเป็น

 

สำหรับการทำงานร่วมระหว่างประสาทศัลยแพทย์กับหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้มี 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ ตรวจร่างกายผู้ป่วยแล้ว ทำการถ่ายภาพกระดูกสันหลังด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในหุ่นยนต์เรเนซอง โดยประสาทศัลยแพทย์ จะเป็นผู้กำหนดและวางแผนการใส่สกรูที่กระดูกสันหลัง  ในขั้นตอนการผ่าตัด ประสาทศัลยแพทย์จะทำการประ กอบสะพานสำหรับหุ่นยนต์บนหลังของผู้ป่วย ให้หุ่นยนต์ทำงานได้โดยกำหนดเป้าหมายและทิศทางการใส่สกรูไปยังกระดูกสันหลัง  ซึ่งโปรแกรมของหุ่นยนต์จะทำให้ถ่ายภาพกระดูกสันหลังด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ จากนั้นหุ่นยนต์จะกำหนดเป้าหมายและทิศทางการใส่สกรูไปยังกระดูกสันหลังอย่างแม่นยำ มีโอกาสในการคลาดเคลื่อนน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร 


ทั้งนี้ ขั้นตอนในการผ่าตัดโดยประสาทศัลยแพทย์ หุ่นยนต์จะมีหน้าที่ช่วยผ่าตัดให้เกิดความแม่นยำ และปลอดภัยแก่ผู้ป่วย ไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใส่สกรูผิดตำแหน่ง ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อไขสันหลังและเส้นประสาทได้ หุ่นยนต์นี้มีความแม่นยำในการผ่าตัดถึงร้อยละ 99   ย่นระยะเวลาการผ่าตัด โดยเฉพาะการใส่สกรูจากเดิมใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง แต่หุ่นยนต์ตัวนี้ใช้เวลาแค่ 10-20 นาทีเท่านั้น แผลผ่าตัดเล็กลง คนไข้บอบซ้ำน้อย และสามารถผ่าตัดอวัยวะที่อยู่ลึกและแคบได้อย่างแม่นยำ สำหรับการผ่าตัดกระดูกผิดปกติผู้ป่วยสามารถรักษาได้ตามสิทธิ์ ซึ่งครอบคลุมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง