เครื่องบินตกโคลอมเบียอาจมาจากนักบินตัดสินใจพลาดไม่แวะเติมน้ำมัน

ต่างประเทศ
2 ธ.ค. 59
12:25
563
Logo Thai PBS
เครื่องบินตกโคลอมเบียอาจมาจากนักบินตัดสินใจพลาดไม่แวะเติมน้ำมัน
เหตุโศกนาฏกรรมเครื่องตกที่โคลอมเบียกลายเป็นข่าวช็อกโลก เพราะนักฟุตบอลทีมชาเปโคเอนเซของบราซิลเสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้เกือบทั้งทีม ผลการตรวจสอบล่าสุดพบว่าเครื่องบินลำดังกล่าวน้ำมันหมดกลางอากาศ ทำให้เครื่องบินตก หลังนักบินตัดสินใจพลาดไม่แวะเติมน้ำมัน

วันนี้ (2 ธ.ค.2559) ไทยพีบีเอสจะไปดูเส้นทางบินของทีมฟุตบอล "ชาเปโคเอนเซ" ของบราซิล ที่เดินทางจากนครเซาเปาโล ของบราซิลด้วยเครื่องบินพาณิชย์ไปที่เมืองซานตา ครูซ ประเทศโบลิเวีย และจากนั้นเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบินลาเมีย เที่ยวบินที่ LMI 2933 จากซานตา ครูซ มุ่งหน้าสู่เมืองเมเดลลิน ประเทศโคลอมเบีย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง

ตามกำหนดการนักบินจะต้องแวะเติมเชื้อเพลิงบริเวณชายแดนโบลิเวียกับบราซิล แต่เนื่องจากเครื่องบินออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนด เมื่อไปถึงก็เป็นเวลากลางคืนแล้ว ซึ่งไม่มีบริการเติมน้ำมัน แต่ยังมีอีกจุดหนึ่งที่สามารถแวะเติมน้ำมันได้ นั่นคือกรุงโบโกต้าของโคลอมเบีย แต่ปรากฏว่านักบินตัดสินใจที่จะไม่แวะเติมน้ำมัน เนื่องจากเชื่อว่ามีน้ำมันเพียงพอที่จะไปถึงจุดหมายปลายทาง

แต่นี่คือการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะก่อนที่จะถึงจุดหมายเพียง 30 กิโลเมตร เครื่องบินไม่มีเชื้อเพลิงเหลือแล้ว ทำให้ระบบไฟฟ้าบนเครื่องบินไม่ทำงานไปด้วย และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก ทั้งนี้ ตามกฎความปลอดภัยด้านการบิน เครื่องบินจะต้องมีเชื้อเพลิงสำรองที่จะบินได้อย่างน้อย 30 นาที แต่กรณีนี้เห็นได้ชัดว่ากัปตันตัดสินใจพลาดที่ไม่ยอมแวะเติมเชื้อเพลิง

สำหรับเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 71 คน รอดชีวิตเพียง 6 คน โดยสมาชิกของทีมฟุตบอล "ชาเปโคเอนเซ" ซึ่งมีกำหนดจะลงสนามในศึกชิงถ้วนโคปา ซูดาเมริกาน่า รอบชิงชนะเลิศกับทีมแอลเลติโก นาซิองนาลของโคลอมเบีย เสียชีวิตเกือบทั้งทีม โดยผู้รักษาประตูเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิต แต่ได้รับบาดเจ็บและต้องถูกตัดขา ทำให้ไม่สามารถลงแข่งขันได้อีก

นอกจากความสูญเสียครั้งใหญ่ในวงการฟุตบอลแล้ว ในวงการสื่อมวลชนถือเป็นโศกนาฏกรรมเช่นกัน เพราะมีผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักในประเทศบราซิลที่ร่วมเดินทางไปพร้อมกับเที่ยวบินนี้เสียชีวิตถึง 20 คน ซึ่งมีทั้งนักข่าว, ช่างภาพ และช่างเทคนิค แต่นี่เป็นเพียงผลการตรวจสอบเบื้องต้น จากนี้จะต้องรออีกประมาณ 6 เดือน ถึงจะทราบผลการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบจากกล่องดำว่าสาเหตุที่แท้จริงของโศกนาฏกรรมในครั้งนี้คืออะไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง