จับสัญญาณเสี่ยง “โรคสมาธิสั้น” วัยรุ่น-วัยผู้ใหญ่

สังคม
5 ธ.ค. 59
15:58
1,249
Logo Thai PBS
จับสัญญาณเสี่ยง “โรคสมาธิสั้น” วัยรุ่น-วัยผู้ใหญ่
วอกแวก-หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ส่อสัญญาณโรคสมาธิสั้นในวัยทำงาน แนะพบจิตแพทย์ประเมินแนวทางรักษา ยันกินยาช่วยหายขาดได้

วันนี้ (5ธ.ค.2559) นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคสมาธิสั้น ไม่ใช่อาการที่พบได้เฉพาะวัยเด็กเท่านั้น แต่วัยหนุ่มสาวหรือวัยผู้ใหญ่ ก็พบได้เช่นกัน ซึ่งสมาธิสั้นในผู้ใหญ่จะไม่ซนเหมือนในเด็ก แต่จะมีปัญหาเรื่องการวางแผน การแก้ไขปัญหา หงุดหงิด สมาธิไม่ดี ทำงานไม่เสร็จ เพราะมีความผิดปกติของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด การวางแผน การบริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่างๆ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า อาการที่พบบ่อย คือ วอกแวกง่าย ฟังอะไรจับใจความไม่ค่อยได้ ทำงานไม่เสร็จทันเวลาที่กำหนด ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลาที่ดี ทำงานผิดพลาดบ่อย หาอะไรไม่ค่อยเจอ ผัดวันประกันพรุ่ง มาสายเป็นประจำ หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดก่อนทำ ทำตามใจชอบ อารมณ์ขึ้นลงเร็ว โกรธง่าย หายเร็ว มีปัญหากับบุคคลรอบข้างบ่อยๆ เบื่อง่าย คอยอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้ เครียด หงุดหงิดง่าย บางคนซึมเศร้าและวิตกกังวล นอนไม่หลับ เสี่ยงต่อปัญหาการติดสุราและยาเสพติดอื่นๆ รวมทั้งมีปัญหาการขับรถและประสบอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าคนปกติ เพราะไม่มีใจจดจ่อ จึงมักมีปัญหาเรื่องขับรถเร็วเกินพิกัดและฝ่าฝืนกฎจราจร เป็นต้น

เขา บอกว่า หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคสมาธิสั้น ควรรีบพบจิตแพทย์ เพื่อทำการประเมิน วินิจฉัย และให้การรักษาอย่างถูกต้องต่อไป การรักษาโรคสมาธิสั้น รักษาได้ด้วยยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม  โดยส่วนใหญ่รักษาหายหรือควบคุมอาการได้ สามารถทำงานและใช้ชีวิตปกติได้ มีเพียงประมาณ ร้อยละ 30 ที่อาการอาจแย่ลงและมีปัญหาพฤติกรรม เช่น ติดยา ก้าวร้าว ครอบครัวและผู้ใกล้ชิด จึงต้องให้ความร่วมมือในการดูแล ให้กำลังใจและความเข้าใจ

ทั้งนี้ วิธีการปฏิบัติตัวหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ฝึกอารมณ์ตนเอง  รู้จักสังเกตอารมณ์ของผู้อื่น รับฟัง เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อลดการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ลดพฤติกรรมใจร้อนหุนหันพลันแล่น เช่นขับรถให้ช้าลง  จัดตารางเวลาในการทำงานและใช้ชีวิต มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ทำประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่น  เสริมความมั่นใจและความมีคุณค่าให้ตัวเอง พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารประเภทน้ำตาล และคาเฟอีน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง