ทำไมไม่ควรวิ่งเลียนแบบ "ตูน บอดี้สแลม"

สังคม
7 ธ.ค. 59
15:08
3,402
Logo Thai PBS
ทำไมไม่ควรวิ่งเลียนแบบ "ตูน บอดี้สแลม"
วันนี้ (7 ธ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก RUNNINGNING ซึ่งเป็นเพจที่ให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการวิ่ง ได้เผยแพร่ข้อเขียนเรื่อง "ทำไมไม่ควรวิ่งเลียนแบบพี่ตูน และสิ่งที่ควรทำ"

ผู้เขียนกล่าวถึงการวิ่งการกุศลของนายอทิวาราห์ คงมาลัย หรือ "ตูน บอดี้สแลม" นักร้องชื่อดังที่อยู่ระหว่างการวิ่งการกุศลระหว่างกรุงเทพฯ ถึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางรวม 400 กิโลเมตร เพื่อหารายได้ในการซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ผู้เขียนระบุว่าการวิ่งระยะทางไกลขนาดนี้มีความเสี่ยง 4 ประการ พร้อมกับเตือนว่าผู้ที่ไม่ได้ฝึกซ้อมและเตรียมร่างกายมาอย่างยาวนานไม่สมควรวิ่งระยะไกลเช่นนี้เด็ดขาด

ทั้งนี้นับตั้งแต่ "ตูน บอดี้สแลม" เริ่มออกวิ่งตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2559 ได้มีนักวิ่งมาร่วมให้กำลังใจและบริจาคเงินจำนวนมาก อย่างไรก็ตามแอดมินเพจเฟซบุ๊ก RUNNINGNING แนะนำว่าการวิ่งระยะไกลโดยที่ไม่ได้ฝึกซ้อมมาก่อนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ จึงควรร่วมช่วยเหลือ "ตูน บอดี้สแลม" ได้ด้วยการเชิญชวนเพื่อนหรือคนรู้จักมาร่วมบริจาคหรือ วิ่งในระยะที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนเอง

"ทีแรกว่า จะไม่เขียนเรื่องนี้ แต่เปลี่ยนใจ เขียนเก็บไว้ดีกว่าครับ เผื่อคนที่ยังวิ่งไม่ชำนาญได้มาอ่าน หลายคนที่เพิ่งหัดวิ่งกันอาจจะนึกภาพไม่ออกถึงความโหดเหี้ยมของระยะทางที่พี่ตูนวิ่ง ซึ่งเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปทำตามพี่ตูน

เทียบง่ายๆ Mo Fara ได้เหรียญทองโอลิมปิก 5 Km. 2 สมัยติด Paula Radcliffe นักวิ่งมาราธอนหญิงสถิติโลก ช่วงพีคของทั้งสองคนวิ่งสัปดาห์ละประมาณ 230 Km.

พี่ตูนวิ่ง 5 วัน ซัดไป 200 Km. แล้วยังวิ่งอีก 4 วัน 200 Km. คือระยะรวม ระดับเดียวกับนักวิ่งระดับโลก...แต่ปกติ ด้วยหน้าที่การงาน พี่ตูนมีเวลาซ้อมแค่ ครั้งละ 10Km. ระดับความฟิตต่างกันมาก

อย่างผม อาทิตย์ไหนวิ่งได้เกิน 50 Km. ถือว่าประสบความสำเร็จมากและ เหนื่อยมาก เริ่มเสี่ยงมีอาการบาดเจ็บ ซึ่งผมกล้าพูดว่าผมฟิตกว่าพี่ตูน แต่ไม่กล้า ทำแม้สัก 50% ของพี่ตูน วิ่งวันละ 20Km. 3 วัน ผมก็ตายแล้ว"

ผู้เขียนยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ความเสี่ยงที่ "ตูน" ต้องเจอในการวิ่งครั้งนี้มี 4 เรื่องหลักๆ คือ 

1.การบาดเจ็บทั่วไปจากการวิ่ง: การวิ่งเป็นกลไก "รับแรงกระแทก" ปริมาณมาก ยิ่งระยะทางเยอะ ยิ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเป็นปกติ

2.Repetitive Motion Syndrome อาการจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ: ต่อให้ไม่เคยวิ่งเยอะq มาก่อน แต่ใครเคยเป็น Office Syndrome จนจับเมาส์ไม่ได้ ปวดข้อมือใจจะขาดจะเข้าใจดี การวิ่งเป็นการกระทำ "ซ้ำๆ" ต่อให้วิ่งช้าแรงกระแทกน้อย แต่ทำซ้ำทุกวันเยอะขนาดนี้ โอกาสเกิดปัญหามีแน่นอน

3.Over training Syndrome: การฝีกหนักเกินจะกระตุ้นฮอร์โมนหลายตัวในร่างกายให้สูงขึ้น ยิ่งทำบ่อยโอกาสที่ฮอร์โมนจะ "ค้าง" ไม่ยอมลงจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ทั้งร่างกายและจิตใจไม่ปกติ อ่อนแรง เมื่อยล้า หงุดหงิดง่าย นอนแล้วตัวร้อนผ่าว หลับไม่ลง

4.ปัญหาโภชนาการและความสมดุลย์ของสารอาหารและพลังงาน: การวิ่งระยะไกลขนาดนี้ต้องกินเยอะมากและสมดุลย์ดีมาก พลังงานที่ถูกใช้ไปกับการวิ่ง มหาศาล ยังมีข้อกังวลเรื่องน้ำและเกลือแร่อีก ซึ่งไปมีผลต่อตับ ไต สารพัด

"ถ้าคุณไม่ได้อยากจะเป็นนักวิ่งทีมชาติ ถ้าไม่ใช่นักกีฬาที่ฝึกซ้อมมายาวนาน ความหนักขนาดนี้ 'ห้ามไปคิดทำเองเด็ดขาด'"

อย่างไรก็ตาม เจ้าของเพจสรุปว่าแม้จะมีความเสี่ยง แต่ "ตูน บอดี้สแลม" ยอมเอาสุขภาพมาเสี่ยงขนาดนี้ก็เพื่อระดมทุนเพื่อช่วยโรงพยาบาลบางสะพานให้ได้มากที่สุด โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ซึ่งเงินบริจาคที่ได้จะช่วยเหลือผู้คนใน อ.บางสะพาน และพื้นที่ใกล้เคียงได้มหาศาล

"เพราะฉะนั้น ถ้าอยากช่วยพี่ตูน ไม่ต้องไปวิ่งตามพี่ตูนมากมาย วิ่งเท่าที่เราซ้อม เท่าที่เรามีเป้าหมาย เท่าที่เราสุขภาพดี สำคัญกว่า คือ ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้พี่ตูน บอกเพื่อนให้กดส่ง SMS บอกญาติพี่น้องที่มีกำลังทรัพย์ ให้ช่วยกันบริจาค เผยแพร่ไปให้คนเข้าใจว่าหัวใจพี่ตูนใหญ่โตขนาดไหน ผมมั่นใจว่าพี่ตูนและทีม จะวิ่งได้ครบ 400K ตอนนี้ อยากอวยพรขอให้ไปถึง 40 ล้านมากกว่าครับ ช่วยๆกัน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง