"ปฏิทินปีใหม่" ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้รับความนิยมสูง

สังคม
13 ธ.ค. 59
07:01
1,620
Logo Thai PBS
"ปฏิทินปีใหม่" ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้รับความนิยมสูง
ยอดสั่งพิมพ์ปฏิทิน หนังสือ และโปสเตอร์ พระบรมฉายาลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ครองแชมป์การผลิตมากที่สุดในช่วงปลายปีนี้

แม้จะเป็นยุคดิจิทัลที่หลายคนให้ความสนใจกับเรื่องออนไลน์มากกว่าสิ่งพิมพ์ที่จับต้องได้ แต่บรรดาห้างร้านต่างๆก็ยังให้ความสำคัญกับการพิมพ์ปฏิทินเพื่อแจกจ่ายลูกค้าเช่นเดิม และสิ่งที่โรงพิมพ์ พิมพ์มากสุดในปีนี้ก็คือ พระบรมฉายาลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (13 ธ.ค.2559) ใกล้ช่วงปีใหม่ 2560 พบว่าโรงพิมพ์กำลังเร่งพิมพ์ หนังสือ โปสเตอร์ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้มีคำสั่งผลิตมากเป็นพิเศษ

นายปฐม สุทธาธิกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด เจ้าของโรงพิมพ์ ระบุว่า มีการสั่งพิมพ์ปฏิทินเข้ามาจำนวนมาก เพราะลูกค้าต้องการนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่สนใจเก็บไว้เป็นที่ระลึก เช่นเดียวกับปฏิทินปี 2560 ก็ยังมีคำสั่งพิมพ์ตั้งแต่เดือนกันยายน - ตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นลายเฉพาะ เช่น ภาพเขียน ประติมากรรมฝาผนัง และ ภาพที่สื่อถึงธุรกิจที่ทำ ส่วนใหญ่โดยจำนวนการสั่งผลิตก็ยังเท่าเดิม

 

 

เช่นเดียวกับการ์ด สคส. ส่งความสุขที่สมาคมการพิมพ์ไทยบอกว่า ยังมียอดคำสั่งพิมพ์เข้ามาต่อเนื่องเพราะบางคนยังเห็นว่าการอวยพรในวันเทศกาลด้วยการ์ด สามารถให้ความรู้สึกประทับใจมากกว่าแบบดิจิทัล

ด้านนาย พงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช อุปนายกบริหารสมาคมการพิมพ์ไทย บอกว่า แม้การจัดพิมพ์ปฏิทินจะมากขึ้น เเต่ที่ลดลงก็คือ นิตยสาร แมกกาซีน ยอดคำสั่งพิมพ์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากผู้อ่านหันไปนิยมติดตามข่าวสาร และ บทความผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้โรงพิมพ์ ต้องปรับตัวและหันไปรับพิมพ์โลโก้สินค้า และออกแบบแพ็คเกจมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการประเมินของกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ปี 2559 คาดว่า จะอยู่ในภาวะทรงตัว ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 300,000 ล้านบาท

ส่วนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ภาพรวมจะเติบโตร้อยละ 10 จากการผลิตในประเทศและการส่งออกสินค้าที่มีการให้ความสำคัญต่อรูปแบบบรรจุภัณฑ์มากขึ้น อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยกำลังอยู่ในช่วงปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะเมื่อการรับรู้ข่าว สารของผู้บริโภคที่เน้นมารับรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือ และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง