แสงสันติภาพ (ตอน 3) : มาราปาตานีกับการปกครองแบบพหุวัฒนธรรม

ภูมิภาค
14 ธ.ค. 59
19:30
1,391
Logo Thai PBS
แสงสันติภาพ (ตอน 3) : มาราปาตานีกับการปกครองแบบพหุวัฒนธรรม
ข้อเรียกร้องอย่างหนึ่งของกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ เสรีภาพในการกำหนดรูปแบบการปกครองของตนเอง แต่เรื่องนี้มักถูกตีความเป็นประเด็นละเอียดอ่อน เหตุผลหนึ่งก็เพราะในพื้นที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีคนต่างศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกัน

นายอาบูยาซิน อาบัส รองประธานกลุ่มมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (GMIP) ยืนยันว่าอุดมการณ์ของกลุ่มมิได้ปฏิเสธการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการเข้าเป็น 1 ใน 6 กลุ่มของมาราปาตานี ที่อยู่ระหว่างการพูดคุยสันติสุขกับทางการไทย ก็เป็นการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพของประชาชนที่จะเลือกรูปแบบการปกครองตัวเอง

"หลายคนกลัวว่า ถ้าคนมุสลิมปกครองแล้ว คนเชื้อชาติอื่นจะอาศัยที่นี่ไม่ได้ จะถูกไล่ฆ่าตัดศีรษะ ซึ่งไม่เป็นความจริง ในอุดมการณ์ของกลุ่มก็ไม่ใช่เช่นนั้น ทุกคนอยู่ร่วมกันได้" อาบูยาซินให้สัมภาษณ์พิเศษทีมข่าวไทยพีบีเอส

 

ภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนเห็นตรงกันว่า การจัดรูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ และสร้างความเท่าเทียมให้คนนับถือต่างศาสนา จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ก่อนหน้านี้มีความพยายามเสนอร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตัวเองต่อรัฐสภา แต่ก็ถูกปฏิเสธจากภาคการเมือง

มันโซร์ สาและ รองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ให้ความเห็นว่า หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง รัฐบาลจะต้องพิจารณาเรื่องโครงสร้างอำนาจใหม่ การพัฒนาศักยภาพของคนในพื้นที่ในทุกมิติ และแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น

ด้านนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา มองว่าการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยในขณะนี้ซึ่งยังอยู่ในบรรยากาศของการสู้รบกันนั้น โดยที่ไม่ได้คำนึงว่ารากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งว่าเกิดจากอะไร นับว่าเป็นการ "ก้าวกระโดด" ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

แต่ก่อนที่ก้าวจะไปสู่การบรรลุข้อตกลง เพื่อกำหนดชะตากรรมของตัวเอง คู่ขัดแย้งซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยสันติสุข เห็นพ้องกันว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายก้าวผ่านจุดของการสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจ ทำให้การหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย และมาราปาตานี ในวันที่ 19-22 ธ.ค.2559 จะหยิบยกเรื่องของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยมาเป็นหัวข้อหลัก

ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจากมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งได้เชิญครูโรงเรียนสอนศาสนาคนสำคัญในพื้นที่ ที่ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มบีอาร์เอ็น มาหารือเพื่อให้ร่วมหนุนเสริมกระบวนสันติภาพ ทำให้หลายฝ่ายมีความหวังมากขึ้นต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งบางคนเสนอว่า ควรกระทำให้ในทางลับเพื่อลดความเสี่ยงจากปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ขณะที่กองกำลังในพื้นที่ก็ต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการพูดคุย

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เสนอว่า กระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยกระทำในทางลับจะช่วยป้องกันกลุ่มคนไม่เห็นด้วยมาทำให้กระบวนการนี้ล้มเหลว

"การสร้างพื้นที่ปลอดภัยต้องทำอย่างระมัดระวัง การที่เปิดเผยว่าจะทำที่ไหนหรือทำอย่างเปิดเผยจะต้องระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรก" ผศ.ศรีสมภพกล่าว

พ.อ.ปราโมทย์ พรหม์อินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่าทางการไทยพยายามเต็มที่ที่จะสร้างบรรยากาศให้พื้นที่ให้สอดรับการพูดคุยสันติสุข ควบคู่ไปกับการทำให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ดีกินดี แม้กระบวนพูดคุยสันติสุขจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นซึ่งยังเปราะบางแต่หลายฝ่ายก็คาดหวังว่า กระบวนการสันติภาพจะเดินต่อไปได้ เพื่อให้พื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้กลับมาสงบสุขอีกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง