ค้นพบ "กุ้งเต้นบูรพา" ชนิดใหม่ของโลก

สิ่งแวดล้อม
15 ธ.ค. 59
15:21
3,660
Logo Thai PBS
ค้นพบ "กุ้งเต้นบูรพา" ชนิดใหม่ของโลก
ม.บูรพา ร่วมกับ ม.สงขลานครินทร์ เปิดเผยข่าวดีค้นพบกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อ "กุ้งเต้นบูรพา"เพิ่งได้รับการตีพิมพ์รับรองระดับนานาชาติเมื่อ 23 พ.ย.นี้ พร้อม เร่งศึกษาคุณค่าทางอาหารเพื่อแปรรูป ยังไม่ยืนยันคนกินได้หรือไม่

วันนี้ (15 ธ.ค.2559) ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า ร่วมกับ ดร.กรอร วงษ์กำแหง และ ดร.มนัสวัณฏ์ ภัทรธำรง จากสถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา ค้นพบกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลก ชื่อว่า "กุ้งเต้นบูรพา" (Floresorchestia buraphana Wongkamhaeng, Dumrongrojwattana and Pattaratumrong, 2016)

เมื่อปี 2557 คณะทำงานได้ค้นพบกุ้งเต้นตัวแรกในประเทศไทย ที่เขาสามร้อยยอด จ.ประ จวบคีรีขันธ์ แต่เป็นคนละชนิดกับกุ้งเต้นบูรพา ต่อมาปี 2558 ลองค้นหาในพื้นที่มหาวิทยา ลัยบูรพา โดยตั้งข้อสังเกตว่ามีลักษณะถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน

จากการสำรวจพบครั้งแรกบริเวณสระน้ำ คณะวิทยาศาสตร์ พบกุ้งเต้นบูรพา จำนวนมากกระจายทั่วไปตามสระและแหล่งน้ำในพื้นที่มหาวิทยาลัย ถือเป็นชนิดแรกที่เจอในสภาพแวดล้อมดัดแปลง ไม่ใช่ตามธรรมชาติ หลังจากนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทางวิทยา ศาสตร์ และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 23พ.ย.2559 โดยใช้ชื่อว่า กุ้งเต้นบูรพา เพื่อเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัย ในการก่อตั้งและก้าวเข้าสู่ปีที่ 61

ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับคณะทำงาน เพื่อศึกษาคุณค่าทางอาหาร เบื้องต้นอาจนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ แต่ยังไม่ยืนยันว่าคนสามารถบริโภคได้หรือไม่ เนื่องจากในไทยยังไม่มีผู้ที่ศึกษาอย่างจริงจัง ส่วนในระยะยาวหากมีการปรับปรุงพื้นที่ อาจกั้นพื้นที่โดยเฉพาะให้กับกุ้งบูรพา และภายใน 2 ปีนี้จะเน้นค้นหาความหลากหลายของชนิดในไทย ซึ่งมีประชากรอยู่มากในธรรมชาติ

สำหรับกุ้งเต้นบูรพา จะอาศัยตามพื้นดินชายตลิ่งที่บริเวณสระน้ำ หรือคูน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่มีใบไม้แห้งร่วงหล่นปกคลุม กุ้งเต้นชนิดนี้กินพืช หรือซากพืชเป็นอาหาร ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนสารอาหารในห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งเป็นอาหารของสัตว์ เช่น ปลา นก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง