ร้องรัฐบาลเร่งสำรวจ-กำหนดสถานะคุ้มครองสิทธิเด็กเคลื่อนย้าย

สังคม
17 ธ.ค. 59
11:49
357
Logo Thai PBS
ร้องรัฐบาลเร่งสำรวจ-กำหนดสถานะคุ้มครองสิทธิเด็กเคลื่อนย้าย
ตัวแทนเด็กเคลื่อนย้าย ยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาลเรียกร้องสำรวจและกำหนดสถานะทางบุคคล ส่งเสริมมาตรการคุ้มครอง และสิทธิด้านต่างๆ เช่นการศึกษา การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข รวมถึงแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กโดยไม่เลือกปฏิบัติ

วันนี้ (17 ธ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนเด็กและเยาวชน จากประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา จีน รวมถึงกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆในประเทศไทย อ่านแถลงการณ์ พร้อมยื่นข้อเสนอการคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้าย ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผ่านนางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และนายเสรี นนทสูติ ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยเรียกร้องให้กำหนดมาตรการคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้าย ให้ได้รับสิทธิด้านต่างๆอย่างครอบคลุม เนื่องจากยังพบว่า เด็กเคลื่อนย้ายยังเผชิญปัญหาการถูกล่วงละเมิด และแสวงหาผลประโยชน์จากการทำงาน การเอาเปรียบของนายนายหน้าและนายจ้าง รวมถึงการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว และการทำร้ายร่างกาย จึงขอให้รัฐบาลสำรวจและกำหนดสถานะ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กทุกคนไม่ว่าจะเคลื่อนย้ายมาจากประเทศใด ให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง การเข้าถึงสิทธิบริการด้านสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ กำหนดมาตรการป้องกันความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ รวมถึงยกเลิกการกักขังเด็กเคลื่อนย้ายที่เป็นผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสถานะ หรือกลุ่มผู้ลี้ภัยและไร้รัฐ

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่เห็นว่า สิ่งสำคัญ คือประเทศไทยต้องจัดระบบ และเร่งการสำรวจเพื่อกำหนดสถานะของเด็กเคลื่อนย้ายอย่างครอบคลุม เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ

รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า แม้ปัญหานี้ไม่รุนแรงเท่ากับในอดีต แต่หากไม่แก้ไข ก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเด็กและสภาพสังคมในประเทศไทยด้วย สิ่งสำคัญคือทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ไขปัญหา และสร้างความตระหนัก การเปลี่ยนแปลงทัศนคติเพื่อหยุดการเลือกปฏิบัติต่อเด็กเคลื่อนย้าย

 

 

แถลงการณ์ของเด็กเคลื่อนย้ายในประเทศไทย

กรุงเทพฯ ประเทศไทย, 17 ธันวาคม 2559


พวกเรากลุ่มเด็กและเยาวชน 45 คน จาก ประเทศไทย, ลาว, พม่า, กัมพูชา และประเทศจีน และจากชาติพันธ์ อาข่า, กะเหรี่ยง, ปะหล่อง, และ ไต ตัวแทนเด็กเคลื่อนย้ายในประเทศไทย พวกเราอาจไม่สามารถเป็นตัวแทนเสียงของเด็กเคลื่อนย้ายทุกคนได้ แต่พวกเราเป็นตัวแทนจากหลากหลายกลุ่ม พวกเรามารวมตัวกันที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย เพราะพวกเราฝันถึงอนาคตอันสดใสของเด็ก ๆ ทุกคนที่เหมือนพวกเรา พวกเราคือเด็กเคลื่อนย้ายในประเทศไทย

เรามีความฝันเหมือนกันกับเด็กทุกคน และยังระลึกถึงมันได้ในทุกเช้าเมื่อยามตื่น พวกเราอยากทำความฝันของเราให้เป็นจริงและมีโอกาสในชีวิตเช่นเดียวกับทุกคน เราอยากเติบโตขึ้นและได้เป็นตามความฝัน ได้เป็นหมอ, ได้เป็นครู, เป็นวิศวกร, เป็นทหาร และเป็นพ่อเป็นแม่ของลูก ๆ ของเราในอนาคต

แต่ดูเหมือนสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ทำให้เราไม่สามารถไปถึงความฝันที่เรามีได้ และพวกเราไม่เข้าใจว่าทำไม บางครั้งมันทำให้เราสิ้นหวังและเศร้า เพื่อนของเราบางคนต้องเผชิญกับการถูกกระทำความรุนแรงและถูกเลือกปฏิบัติอยู่ทุกวัน คนที่สร้างความเจ็บปวดให้เด็ก ๆ อย่างพวกเรานั้น อาจไม่เข้าใจว่า พวกเรามีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันกับพวกเขาทุกคน อยากให้เขาลองมองให้ลึกลงไปในจิตใจของพวกเขา พวกเขาจะเห็นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้แตกจากพวกเราเลย ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมาจากที่ใดก็ตาม

สิทธิของเรา “สิทธิเด็ก” ไม่ใช่ความฝัน สิทธิเด็กนั้นมีอยู่จริง สิทธิพื้นฐานที่เราต้องมี คือ “การเข้าถึงข้อมูล” ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของพวกเรา เราอยากที่จะเข้าใจ ถึงสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเราทั้งทางบวกและทางลบ และมีโอกาสใดบ้างที่เราสามารถจะเข้าถึง เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเรานั้นดีขึ้น และ “การมีส่วนร่วม” เป็นอีกขั้นหนึ่ง ที่เราอยากก้าวไปร่วมกับทุกคน เพื่อการเป็นพลเมืองที่ดี ของรัฐไม่ว่ารัฐใดประเทศใดก็ตาม พวกเรามีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ ก็ตามที่มีผลกระทบต่อเรา –เรามีสิทธิที่บอกถึงความฝันของเรา และในขณะเดียวกัน ความฝันนั้น ก็ย่อมได้รับการรับฟังด้วย-

เด็กทุกคนนั้นแตกต่าง และเป็นเอกลักษณ์ แต่เราต่างมีบางสิ่งที่เหมือนกันด้วย นั้นคือ “พวกเราทุกคนคือ เด็กเคลื่อนย้าย คือ เด็ก” และเราฝันที่จะมี “สิทธิที่เท่าเทียมกัน” เหมือนเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ชาติกำเนิด, สถานะทางกฎหมาย, เงินทองที่เรามี ไม่ควรเป็นเรื่องแบ่งแยกเราออกจากเด็กคนอื่น ๆ ไม่ว่าเราจะไปโรงเรียน ไปพบคุณหมอ หรือแม้แต่เดินทางไปในที่ต่าง ๆ ในประเทศ และ “การถูกเลือกปฏิบัติ” ที่พวกเรากำลังเผชิญในฐานะเด็กเคลื่อนย้าย มันให้ความฝันของเราห่างไกลไปทุกที

อย่างไรก็ตาม พวกเรามีความฝัน ที่อยากให้ทุกคนร่วมกันทำให้เป็นจริง

1. สถานะบุคคล: เราไม่เข้าใจว่า ทำไมเด็กเคลื่อนย้ายบางคน ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ว่าในประเทศใดเลย เด็กทุกคนในประเทศไทย ต้องได้รับการสำรวจและมีสถานะบุคคลในประเทศไทย ซึ่งเป็นด่านแรกและด่านสำคัญ ในการทำความฝันของพวกเราให้เป็นจริง

2. ความรุนแรงและการถูกเลือกปฏิบัติ: ความรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็ก ไม่เคยเป็นทางแก้ไขปัญหาใด ๆ ตรงกันข้ามมันคืออาชญากรรม เราต้องการให้มีกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้ายในประเทศไทย ที่ครอบคลุม และป้องกันการถูกกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งการถูกเลือกปฏิบัติด้วย และเราอยากให้มีการร่วมกัน สร้างความตระหนักเพื่อเปลี่ยนความคิดทัศนคติของผู้คน เพื่อที่จะได้หยุดการเลือกปฏิบัติต่อเด็กเคลื่อนย้าย

3. การกักขังเด็ก: เพื่อนของเราบางคนถูกกักขังเพราะการย้ายถิ่น และนั่นทำให้เรารู้สึกเศร้ามาก แต่การเป็นเด็กเคลื่อนย้ายไม่ใช่สิ่งผิด เพราะฉะนั้นไม่ควรมีเด็กเคลื่อนย้ายหรือเด็กคนใดเลยที่ถูกกักขัง

4. การบริการทางสาธารณสุข: การบริการทางสาธารณสุขเป็นสิทธิพื้นฐานของเด็กทุกคน ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก ในการพัฒนาระบบการบริการทางสาธารณสุขให้เข้าถึงแก่กลุ่มเด็กเคลื่อนย้ายในประเทศไทย อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันการถูกเลือกปฏิบัติในกลุ่มเด็กเคลื่อนย้ายยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีเด็กคนใดถูกละทิ้ง และได้รับการบริการอย่างเท่าเทียมกับเด็กทุกคน

5. การศึกษา: หากเราเลือกได้ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการทำความฝันของเราให้เป็นจริง เราขอเลือก “การศึกษา” เป็นอันดับแรก ควรส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่ทำเด็กเคลื่อนย้าย และเด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและไม่มีข้อจำกัดใด แม้ว่าพ่อแม่ของเราไม่สามารถสนับสนุนการศึกษาแก่เราได้ก็ตาม เพราะการศึกษาส่งเสริมให้พวกเราดีขึ้น ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของพวกเรา และเป็นการศึกษาที่เด็กอย่างเรามีส่วนร่วม และได้รับโอกาสที่เท่าเทียม เพื่อทำให้ความฝันของพวกเราทุกคนเป็นจริงได้

พวกเรามีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่ง ว่าความฝันของเราจะเป็นจริงได้ในสักวัน และเราจะไม่ยอมแพ้จนกว่าความฝันของพวกเรานั้นเป็นจริง

กรุงเทพฯ ประเทศไทย, 17 ธันวาคม 2559

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง