อดีต ผอ.องค์การเภสัชฯ พ้นคดีทุจริตซื้อยาพาราเซตามอลเมื่อปี 55

สังคม
17 ธ.ค. 59
21:02
1,798
Logo Thai PBS
อดีต ผอ.องค์การเภสัชฯ พ้นคดีทุจริตซื้อยาพาราเซตามอลเมื่อปี 55
"นพ.วิทิต-นพ.วิชัย" อดีต ผอ.องค์การเภสัชกรรม และอดีตประธานองค์การเภสัชกรรม พ้นคดีทุจริตจัดซื้อยาพาราฯ ปี 55 หลังโดน ป.ป.ช.ฟ้องทำรัฐเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าว "ไทยพีบีเอส" รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งหนังสือแจ้งถึง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง คณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 158/2557 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2557 แก้ไขคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหาท่านเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ในการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอลขององค์การเภสัชกรรม

คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นพ.วิทิต อรรถเวชกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ผู้สื่อข่าวสอบถาม นพ.วิทิต เปิดเผยว่า เป็นคดีที่บอร์ดองค์การเภสัชกรรมฟ้องร้องตัวเอง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอดีต ผอ.องค์การเภสัชกรรม และ นพ.วิชัย ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ว่าทุจริตจัดซื้อยาพาราเซตามอล ปี 2555 จากเดิมที่องค์การเภสัชกรรมเคยสั่งซื้อเมื่อปี 2548 จำนวน 48 ตัน แต่เมื่อปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้ต้องสำรองปริมาณยาเพิ่มขึ้น 100 ตัน ซึ่งเป็นการคำนวณเพื่อเตรียมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทักภัย และไม่ได้ทำให้องค์การเภสัชกรรมเกิดความเสียหาย ตามที่ถูกฟ้อง ป.ป.ช. ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

"เมื่อผลออกมาเช่นนี้ ยังไม่ตัดสินใจว่าจะฟ้องร้องกลับผู้ยื่นฟ้องหรือไม่ แต่ผมยืนยันว่า ผมตั้งใจทำงาน และเมื่อถูกฟ้องทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งไป และวันนี้เมื่อปรากฏว่า ป.ป.ช.ยกฟ้องเพราะไม่มีมูล เหตุการณ์ก็ล่วงเลยมา 3 ปีแล้ว เป็นความล่าช้าที่เกิดขึ้นในระบบราชการ และไม่คิดจะกลับมาทำงานในสายราชการอีก เพราะรู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น" นพ.วิทิต กล่าว

นพ.วิทิต ระบุด้วยว่า กรณีการจัดซื้อยาพาราเซทตามอล และการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ในช่วงที่รับตำแหน่ง ผอ.องค์การเภสัชนั้น นพ.วิทิต ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ คณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชและฝ่ายการเมืองสั่งปลดพ้นตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อปี 2555 ขณะที่ส่วนตัวยืนยันว่าไม่เคยมีปัญหาเรื่องทุจริต และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.องค์การเภสัชกรรม ได้ทำให้องค์กรมีรายได้เพิ่มขึ้นผลักดันรายได้ขององค์การเภสัชกรรม จาก 5,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาทได้ภายในระยะเวลา 6 ปี และเป็นผู้ผลักดันให้ราคายา 10 ประเภท ที่มีราคาแพงก่อนหน้านั้น มีราคายาถูกลง โดยการใช้สิทธิบัตรซีแอลยา เช่น ยารักษาโรคเอดส์ ยาละลายลิ่มเลือดหัวใจ เพื่อให้ประชาชนได้โอกาสเข้าถึงยาราคาแพง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง